ฉากสุดท้ายของไดโนเสาร์
การชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายของพรรคก้าวไกลเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปตลอดกาล แต่ชนชั้นนำจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พรรคได้ครองอำนาจ
“ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย” หัวหน้าพรรคก้าวไกลวัย 42 ปีกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนหลังจากพรรคได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม “ประชาชนไทยได้แสดงเจตน์จำนงของตนเองแล้ว และผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับจุดยืนของผมหรือไม่ก็ตาม”
พรรคก้าวไกลสร้างความหวาดหวั่นให้แก่ชนชั้นนำไทยด้วยชัยชนะถล่มทลาย จากคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ 14.4 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เลือกตั้งทั้งหมด พรรคกวาดคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในเขตกรุงเทพฯ โดยชนะการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 32 เขตจากทั้งหมด 33 เขต พรรคได้ที่นั่งในสภารวมทั้งสิ้น 151 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นมากกว่าชัยชนะทั่วไป เพราะพรรคก้าวไกลต่างจากพรรคการเมืองใหญ่อื่นๆตรงที่ไม่มีการซื้อเสียงและไม่ได้พึ่งพาเครือข่ายบ้านใหญ่เพื่อให้ได้คะแนนเสียง
ผู้ชนะอันดับสองคือพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่สุดท้ายกลับถูกพรรคก้าวไกลดับฝัน พรรคเพื่อไทยได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 29 เปอร์เซ็นต์ ได้คะแนนบัญชีรายชื่อค่อนข้างดี และได้จำนวนที่นั่งทั้งหมด 141 ที่นั่ง
ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยโหมแคมเปญปิดสวิชต์ “ลุง” หรือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาชนในปี พ.ศ.2557 คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของทั้งสองพรรคที่รวมกันเป็น 67 เปอร์เซ็นต์แสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ หรือ 2 ใน 3 ของประเทศต้องการออกจากยุคเสื่อมที่ปกครองโดยพวกไดโนเสาร์และต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในบทความของ Nikkei Asia ว่า “ยุคประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นในเดือนที่ผ่านมากำลังถูกบ่อนเซาะจากกลุ่มอำนาจเก่า”
ฐิตินันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่มอำนาจเก่ากำลังเร่งปิดสวิชต์พรรคก้าวไกลที่กำลังจะรื้อถอนโครงสร้างอำนาจที่มีศูนย์กลางเป็นสถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคมรวมถึงปฏิรูปศูนย์กลางอำนาจเดิมเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพัฒนาทักษะความสามารถของประชาชนที่ถูกฉุดรั้งแช่แข็งมาเป็นเวลานาน การปฏิรูปพุ่งเป้าไปที่การถกเถียงเรื่องบทบาทของกองทัพและสถาบันกษัตริย์”
น่าเสียดายที่พวกไดโนเสาร์ยังไม่อยากเผชิญความจริง พวกเขายังไม่ยอมแพ้
Secret Siam เป็นสื่ออิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่านเท่านั้น คุณสามารถลงทะเบียนเพื่ออ่านบทความฟรี และหากต้องการอ่านเนื้อหาเอ็กซ์คลูซีฟ คุณสามารถสมัครสมาชิกได้เพียงเดือนละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปีละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ
ขอบคุณสมาชิกทุกท่านครับ 🙏
ปั้นน้ำจนกว่าจะเป็นตัว
พรรคเพื่อไทยต้องตกตะลึงเมื่อถูกพรรคก้าวไกลเบียดร่วงลงไปเป็นที่สอง แต่เพื่อไทยก็รีบตั้งตัวและประกาศว่าจะสนับสนุนพิธาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง
“พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ โดยสัญญาว่าจะสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล” ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวในงานแถลงข่าวหลังวันจัดการเลือกตั้ง
มีการเชิญพรรคการเมืองเล็ก 6 พรรค ได้แก่ ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม พลังสังคมใหม่ และเพื่อไทยรวมพลัง เพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากด้วยที่นั่งในสภา 312 ที่นั่งจากสมาชิกสภาทั้งหมด 500 ที่นั่ง
พิธาและพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยดำเนินการเตรียมตัวจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็วเพื่อครองอำนาจบริหาร มีการจัดตั้งทีมทำงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทั้ง 8 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งประเทศไทย
พรรคร่วมเห็นตรงกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่ระบุข้อตกลง 23 ข้อเพื่อผลักดันนโยบายสำคัญ งานแถลงข่าวจัดขึ้นที่โรงแรมคอนราดในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของการรัฐประหารปี 2557 ที่ประยุทธ์และประวิตรปล้นอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคตกต่ำทางการเมือง การคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง และสภาวะหยุดนิ่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนไทยแสดงเจตจำนงแล้วว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง
ภาพ MOU ทั้ง 23 ข้อจาก Bangkok Post
ใน MOU ไม่ปรากฏประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสังคมไทย 2 ข้อ ประเด็นแรกคือนโยบายหลักของพรรคก้าวไกลในการปฏิรูปกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ มาตรา 112 เพื่อกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม แทนที่การลงโทษหนักเกินสมควร และกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความฟ้องร้องได้เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่ใครก็สามารถแจ้งความได้และกฏหมายถูกตีความแบบไร้มาตรฐานและไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกฏหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในสังคมไทย แม้นักการเมืองจำนวนมากเห็นด้วยกับการปฏิรูปเป็นการส่วนตัว แต่ไม่มีพรรคใดกล้าหาญพอที่จะเสนอแก้ไขกฏหมายมาก่อน ข้อมูลหลุดจากโทรเลขของฑูตสหรัฐฯเผยว่า ทักษิณ ชินวัตร บอกกับนายเอริค จอห์น ฑูตสหรัฐฯผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์ในขณะที่ลี้ภัยทางการเมืองในปี 2551 ว่าประเทศไทย “จำเป็นต้องถอดกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากกฏหมายอาญา ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยได้หากยังมีการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แต่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงกฏหมายฉบับนี้ รวมถึงพรรคอื่นๆด้วยยกเว้นพรรคก้าวไกล พวกเขาคิดว่าหากออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูป จะเสี่ยงต่อการเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองมากเกินไป
สิ่งที่ก้าวไกลเห็นด้วยกับพรรคร่วมอื่นๆคือ การไม่เสนอนโยบายล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย แต่พิธากล่าวว่าพรรคจะเดินหน้าใช้ระบบรัฐสภาในการปฏิรูปมาตรา 112 แม้ว่าพรรคร่วมจะไม่เห็นด้วย (ในความเป็นจริง ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเนื่องจากมีการแทรกแซงทางการเมืองจากราชวงศ์ การปฏิรูปกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะนำพาประเทศให้เข้าใกล้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเดียวกับสากลโลก)
พรรคก้าวไกลต้องการจะบรรจุข้อตกลงเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ลี้ภัยและนักโทษการเมือง แต่ประเด็นนี้ถูกปัดตกโดยพรรคเพื่อไทย เหล่าผู้นำพรรคต่างกังวลว่าจะมีการเชื่อมโยงประเด็นนี้กับการวางแผนนำทักษิณกลับประเทศไทย (ซึ่งพวกเขากำลังทำอยู่) มากกว่าจะโฟกัสประเด็นปัญหาที่สำคัญกว่านั้น ครั้งล่าสุดที่เพื่อไทยพยายามผลักดันกฏหมายนิรโทษกรรมในปี 2556 ก็ถูกกลุ่มรอยัลลิสต์ฝ่ายขวานำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อลงถนนประท้วง ซึ่งต่อมาพัฒนาไปสู่การรัฐประหารปี 2557 ในที่สุด
พรรคร่วมแต่งตั้งกรรมการ 14 ชุดเพื่อเริ่มเจรจาหารือว่าจะผลักดันนโยบายสำคัญของตนอย่างไร พิธาเป็นประธานกรรมการชุดที่ทำงานเรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่ ส่วนกรรมการชุดอื่นมุ่งแก้ปัญหาเรื่องราคาค่าไฟและพลังงานที่สูงขึ้น ผลกระทบของภาวะแห้งแล้งและสภาพอากาศแปรปรวนซึ่งเป็นผลจากเอลนินโย่ ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบดิจิตอล การยุติการคอรัปชั่น ปัญหาสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการปฏิรูปที่ดิน
พรรคก้าวไกลมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น ความพยายามผลักดันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ซึ่งตรงข้ามกับความไร้เสถียรถาพและเฉื่อยแฉะของรัฐบาลยุคก่อนหน้า รวมถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลประยุทธ์และพวกตั้งแต่ปี 2557
แม้คำสัญญาและความตั้งใจจะดูน่าเชื่อถือ แต่การแสดงออกของพรรคก้าวไกลตั้งแต่หลังเลือกตั้งดูคล้ายหน้าฉากการแสดงเพื่อส่งพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยและส่งพรรคร่วมให้ได้จัดตั้งรัฐบาล ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขายังอยู่ห่างไกลจุดหมายนี้อย่างมาก
พิธาและพรรคก้าวไกลกำลังใช้วิธี “ปั้นน้ำจนกว่าจะเป็นตัว” โดยการสร้างภาพลวงว่าพิธาจะได้รับเลือกเป็นนายกและพรรคร่วมจะได้ตั้งรัฐบาลอย่างราบรื่นไร้ข้อขัดแย้ง พวกเขาพยายามสร้างบรรยากาศและโน้มน้าวคนไทยว่าตนเองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามครรลองและจะไม่มีใครกล้าฝ่าฝืนหรือขัดขวางไม่ให้พวกเขาตั้งรัฐบาลได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการท้าทายให้ประชาชนลุกฮือในวงกว้าง พวกเขากำลังแสดงให้ทุกคนเห็นว่ามีแผนพัฒนาและปฏิรูปประเทศอย่างชัดเจนแบบที่ทุกคนใฝ่ฝัน โดยหวังให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกหวาดหวั่นและไม่กล้าเสี่ยงเข้าขัดขวาง
แม้ว่าพิธาจะแสดงออกอย่างมั่นใจ แต่เขาก็รู้ดีว่ามีอุปสรรคใหญ่รออยู่เบื้องหน้าที่ขัดขวางไม่ให้เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี อำนาจกองทัพถูกท้าทายโดยพรรคร่วมที่เสนอนโยบายลดขนาดกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร กรมตำรวจและศาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อบ่อนเซาะการปฏิรูปประเทศของพวกเขา การรื้อโครงสร้างสถาบันใหญ่อย่างกองทัพ ตำรวจ และระบบราชการที่พรรคร่วมเสนอคือการข้ามเส้นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย และการต่อต้านอย่างรุนแรงกำลังก่อตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังสถาบันใหญ่อย่างกองทัพและระบบราชการที่กำลังปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างสุดกำลังคือ วังหลวง ซึ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อการปฏิรูปประเทศ กษัตริย์วชิราลงกรณ์เกลียดชังการปฏิรูปประเทศและต้องการขัดขวางทุกทาง อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งปัจจุบันเป็นคนสนิทและได้รับความไว้วางใจมากที่สุดจากกษัตริย์ก็ไม่พอใจพรรคก้าวไกลและกลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยเยาวชน
ในเดือนตุลาคม 2562 อภิรัชต์ขึ้นบรรยายพิเศษสุดสะเทือนอารมณ์ เนื้อหากล่าวถึงกลุ่มผู้ไม่หวังดีประกอบด้วยอดีตคอมมิวนิสต์ นักวิชาการฝ่ายซ้าย นักการเมืองชั่ว และอำนาจแทรกแซงจากต่างชาติที่กำลังรวมหัวกันทำลายประเทศไทยโดยใช้ “สงครามไฮบริด” ผ่านการปล่อยเฟคนิวส์และโฆษณาชวนเชื่อ เขาร่ำไห้และประกาศความจงรักภักดีต่อวชิราลงกรณ์ และปาดน้ำตาอีกครั้งเมื่อกล่าวถึง สุนทร คงสมพงษ์ พ่อของเขาว่าเป็นฮีโร่สงครามที่อยู่ในเหตุการณ์ “เฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกสองลำซ้อน โดนยิงขณะปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ทั้งที่ในความเป็นจริงพ่อของเขาร่วมก่อรัฐประหารและเป็นเสือผู้หญิงตัวยงจนเป็นที่เลื่องลือ รวมทั้งไม่เคยมีบันทึกหลักฐานว่าพ่อของเขาเคยบาดเจ็บจากการทำสงคราม อภิรัชต์กล่าวเตือนว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกำลังทำลายความมั่นคงของชาติด้วยวิธีเดียวกันกับกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
วชิราลงกรณ์และอภิรัชต์ไม่พอใจการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ซึ่งต่อมาคือพรรคก้าวไกลที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มหาเศรษฐีที่ได้รับความชื่นชมและศรัทธาจากผู้คนมากมาย หลังจากที่พรรคได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งในปี 2562 จนกลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 3 ในสภา ทั้งสองก็เดินหน้าสกัดดาวรุ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาธรและผู้นำพรรคอนาคตใหม่ระมัดระวังตัวอย่างมากในการแสดงออกที่จะไม่เป็นการท้าทายสถาบันกษัตริย์ แต่พวกเขาประกาศอย่างชัดเจนถึงความต้องการที่จะถอดกองทัพออกจากการเมืองและยุติวงจรการรัฐประหารในประเทศไทย
ตามที่วังได้มีบทบาทมาตลอดในศตวรรษที่ 21 วชิราลงกรณ์ส่งสัญญาณผ่านตัวแทนอย่างศาลรัฐธรรมนูญให้จัดการกับพรรคอนาคตใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาตัดสิทธิ์ธนาธรจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุผลว่าเขาถือหุ้นสื่อซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แต่วชิราลงกรณ์และอภิรัชต์ก็ยังไม่พอใจ พวกเขาต้องการลงดาบพรรคอนาคตใหม่
มีการกล่าวหาว่าพรรคเกี่ยวข้องกับองค์กรลับอิลลูมินาติที่เป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระจนศาลรัฐธรรมนูญยังต้องตีตกไป แต่โอกาสที่สองก็มาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อศาลตัดสินว่าเงิน 191.3 ล้านบาทที่ธนาธรปล่อยกู้ให้พรรคอนาคตใหม่เป็นเงินบริจาคที่ผิดกฏหมาย ข้อกล่าวหานี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งเพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินกู้ ซึ่งพรรคสามารถทำได้ ไม่ใช่เงินบริจาค แต่วังมีคำสั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินลงโทษพรรคด้วยบทลงโทษรุนแรงที่สุด
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ดังที่ทุกฝ่ายคาดคิด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่และห้ามธนาธรและกลุ่มผู้บริหารพรรคยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
การชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรคก้าวไกลในเดือนพฤษภาคม 2566 สร้างความหวาดหวั่นให้วชิราลงกรณ์และอภิรัชต์ถึงขั้นสุด Nikkei Asia รายงานความเห็นของ “ข้าราชบริพารระดับสูงที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์วชิราลงกรณ์” ว่าการมีรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลเป็น “เรื่องบ้าบอ” และคาดการณ์ว่าประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีไปอีกนานในอนาคต
กลับมาที่อำนาจของพระราชวัง กองทัพและชนชั้นนำไทยกำลังเคลื่อนพลเพื่อขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ครองอำนาจบริหาร สงครามได้เริ่มขึ้นแล้ว
แผนลับ#1
ไอทีวี เปิดตัวในปี 2538 ในฐานะสถานีโทรทัศน์อิสระหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่เน้นการนำเสนอข่าวเป็นหลัก มีผู้ถือหุ้นหลักได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เครือแปซิฟิคคอมมิวนิเคชั่น ซึ่งมี ปีย์ มาลากุล โฆษกสำนักพระราชวังเป็นประธานกรรมการ และเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป เพื่อให้เสรีภาพสื่อในการทำงาน ผู้ถือหุ้นถูกกำหนดให้มีหุ้นได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมาไอทีวีสูญเสียรายได้มหาศาลหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จนมีสถานะล้มละลายในที่สุด
ด้วยความพยายามที่จะปกป้องผู้ถือหุ้นฝ่ายวังจากความเสียหายในกรณีที่ไอทีวีล้มละลาย พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ ชวน หลีกภัย ยกเลิกกฎการถือหุ้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อดึงดูดนักลงทุน ในปี 2543 ทักษิณและเครือชินคอร์ปเข้ามากว้านซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของไอทีวีในราคา 60 ล้านเหรียญสหรัฐ เห็นได้ชัดว่าเขาจ่ายแพงเกินมูลค่าสินทรัพย์ของไอทีวีซึ่งมีสถานะล้มละลายในขณะนั้น แต่ทักษิณมีเหตุผลในการลงทุนนี้ เขาได้สานสัมพันธ์กับวังโดยการช่วยให้ไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พ้นจากวิกฤติ และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองเพื่อปูทางไปสู่การครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2544
หลังจากนั้นทักษิณใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการข่าวไอทีวีด้วยการกดดันให้งดนำเสนอข่าวด้านลบเกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยและเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้ตัวเอง นักข่าวหลายคนออกมาต่อต้านและมีนักข่าว 21 คนถูกไล่ออก เครือชินคอร์ปเริ่มมีพื้นที่ในสื่อมากขึ้นจนทำให้ช่องต้องลดเนื้อหาข่าวลง แต่ภายในปี 2549 สถาบันหลักในไทยก็เริ่มตัดตอนอำนาจของทักษิณ ไอทีวีถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อบังคับและถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณในเดือนกันยายน 2550 รัฐบาลใหม่ประกาศว่าจะยึดไอทีวี หากไม่มีการจ่ายค่าปรับ และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารใหม่ที่ประกอบด้วยข้าราชการทั้งหมด
ในเดือนมีนาคม 2550 ไอทีวีถูกถอดออกจากผังการออกอากาศทางโทรทัศน์อย่างถาวรและไม่ได้ผลิตสื่อใดอีกเลยนับแต่นั้น สถานีถูกแทนที่ด้วยไทยพีบีเอสในเดือนมกราคม 2551 หุ้นของสถานีถูกถอนโดยตลาดหลักทรพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557 เหตุผลเดียวที่บริษัทยังไม่ปิดตัวลงเนื่องจากยังมีคดีความกับสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเงินชดเชยค่าเสียหายจำนวน 2.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากคดียังไม่สิ้นสุดไอทีวียังต้องดำเนินการต่อไป แต่มีสถานะเป็นเพียงบริษัทซอมบี้ที่ไม่มีการผลิตสื่อใดๆ
ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ “นักร้อง”และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐยื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าพิธาไม่ผ่านคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะถือครองหุ้นสื่อไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น
มาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2561 และมาตรา 42(3) ของกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรห้ามมิให้บุคคลใดที่เป็นเจ้าของบริษัทสื่อหรือถือหุ้นในบริษัทสื่อสามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เหตุผลที่มีกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส. มีอิทธิพลครอบงำสื่อหรือใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและโจมตีคู่ต่อสู้ทางการเมือง แต่กฎหมายนี้ก็ถูกใช้ในทางที่ผิดหลายครั้งเพื่อโจมตีนักการเมืองที่กลุ่มชนชั้นนำต้องการกำจัด
ในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาตัดสินให้ธนาธรพ้นจากสภาพการเป็น ส.ส. ด้วยข้อหาว่าเขาถือหุ้น 675,000 หุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทผลิตนิตยสารไลฟ์สไตล์ Who! และนิตยสารเพื่ออ่านบนเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ ที่หยุดการผลิตไปสองปีก่อนหน้า บริษัทกำลังจะเตรียมปิดตัว และยังรอการชดใช้หนี้บางส่วน ไม่มีหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้ว่าธนาธรใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นผลิตสื่อเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวในทางการเมือง นอกจากนั้นเขายังแสดงหลักฐานว่าได้ขายหุ้นให้มารดาก่อนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แม้จะมีหลักฐานชัดเจน ศาลก็ตัดสินลงโทษเขา ซึ่งเป็นการลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผลเพียงเพราะได้รับคำสั่งจากวชิราลงกรณ์
เมื่อความตื่นเต้นเรื่องการชนะการเลือกตั้งของก้าวไกลเริ่มจางลง ความสนใจของสังคมหันมาที่การร้องเรียนของเรืองไกร ซึ่งทำให้สถานะของพิธาเริ่มสั่นคลอน
สถานการณ์ของเขามีความคล้ายคลึงกับธนาธรหลายประการ เขาถูกกล่าวหาว่ามีหุ้น 0.0035 เปอร์เซ็นต์ในสถานีโทรทัศน์ที่ไม่มีใบอนุญาตออกอากาศมาเป็นเวลานาน ไม่มีช่องในโทรทัศน์ และไม่มีรายได้จากการผลิตสื่อมาเกือบ 15 ปี หนำซ้ำหุ้นเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้ชื่อของเขา มันเคยเป็นของบิดาของเขา และถูกส่งต่อให้เป็นทรัพย์สินของพิธาเนื่องจากเขาเป็นผู้จัดการมรดกหลังจากบิดาเสียชีวิตในปี 2549
ไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องการถือหุ้นจะกลายเป็นหอกทิ่มแทงพิธาในที่สุด แต่ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยยอมทำเรื่องน่าอายในการรับใบสั่งจากวังให้ตัดสินลงโทษธนาธรมาแล้ว เหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นกับพิธาอีกก็เป็นได้
ประวิตร โรจนพฤกษ์อธิบายว่า “เป็นเรื่องน่าขำ ไม่เนียน ปลอม แย่ และไร้สาระ”
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านกฏหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
แม้กรณีของพิธาจะดูไม่มีน้ำหนัก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ์
“ในสถานการณ์ปกติ ผมมั่นใจว่าเรื่องนี้มีความเสี่ยงต่ำ แต่สำหรับบริบทประเทศไทยตอนนี้ผมคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้” เข็มทองแสดงความเห็น
“น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีความน่าเชื่อถือมากนักในสังคมไทย” เข็มทองกล่าว “ประชาชนคลางแคลงใจมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษแล้วว่าศาลถูกแทรกแซง ไม่เป็นกลางทางการเมือง และเป็นเพียงเครื่องมือของฝั่งสถาบันในการกดขี่ประชาชน และน่าเศร้าที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เป็นเครื่องมือของอำนาจเหล่านี้ด้วย”
พวกกลุ่มไดโนเสาร์อำนาจเก่าใช้ข้อกล่าวหาเรื่องการถือหุ้นสื่อไอทีวีของพิธาเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กูรูและที่ปรึกษาทางกฏหมายของรัฐบาล แย้มว่าอาจมีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้งหากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาตัดสิทธิ์พิธา แม้ว่าคำกล่าวนี้จะไม่มีกฏหมายข้อใดรองรับ
ในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธคำร้องของนายเรืองไกร และคำร้องอื่นๆที่มีต่อผู้สมัครพรรคก้าวไกลเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพราะพวกเขาสนับสนุนการปฏิรูปกฏหมายมาตรา 112 โดย กกต. ให้เหตุผลว่าคำร้องเหล่านี้ถูกยื่นช้าเกินไปหลังจากที่ผู้สมัครได้รับการอนุมัติแล้ว
กกต. ไม่ได้กำลังวางตัวเป็นกลาง แต่แย่ไปกว่านั้น สัญญาณของแผนการสมรู้ร่วมคิดที่มีวังอยู่เบื้องหลังเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อ กกต. ประกาศว่าแม้คำร้องก่อนหน้านี้จะถูกปัดตก แต่มีการพบหลักฐานเพียงพอที่อาจจะตั้งข้อหาต่อพิธาว่าสมัครเป็น ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตนเองไม่ผ่านคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อ พร้อมกล่าวว่าจะมีการสอบสวนเรื่องนี้ต่อและจัดการตามความเหมาะสม
การลงสมัคร ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตนเองไม่ผ่านคุณสมบัติเป็นความผิดทางอาญามาตรา 151 ของกฎหมายเลือกตั้งของประเทศไทย พิธากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงกว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าเขามีคุณสมบัติจะดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่ หาก กกต. สรุปว่าเขาทำผิดกฏหมายมาตรา 151 คดีจะถูกส่งไปที่ศาลอาญาและพิธาจะต้องพัวพันกับพิจารณาคดีขึ้นศาลเป็นเวลาหลายปี หากคดีเลยเถิดไปถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา และถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาจะต้องรับโทษจำคุกระหว่าง 1 ถึง 10 ปี ปรับ 20,000 ถึง 200,000 บาท และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี
ดังนั้นพิธากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์และถูกดำเนินคดีจากศาลอาญา สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวว่ายังมีแผนการอื่นที่สามารถขัดขวางพิธาไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี “อาวุธหนักต่างๆ กำลังลำเลียงสู่สมรภูมิสนามรบ และไม่จบแค่ปืนต่อสู้อากาศยาน 151” สมชัยกล่าว
พิธาย้ำมาตลอดว่าเขามั่นใจว่าจะไม่ถูกตัดสิทธิ์หรือถูกดำเนินคดี แต่เขาก็ออกอาการหวั่นไหวเมื่อเขาโอนหุ้นไอทีวีให้กับญาติ
สถานการณ์ของเขาเริ่มดูไร้ความหวัง แต่ข้อมูลล่าสุดอาจช่วยพิธาให้พ้นจากการลงโทษจากข้อกล่าวหาเรื่องถือหุ้นสื่อ เมื่อสื่อเริ่มรายงานหลักฐานว่ามีขบวนการขัดขวางเส้นทางของพิธาสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การประชุมประจำปีของไอทีวีครั้งล่าสุดจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม ไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุม นิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร สส. พรรคอนาคตใหม่ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลว่ามีนักการเมืองที่ถือหุ้นในไอทีวีควรเข้าร่วมการประชุมประจำปีและแจ้งให้ กกต. ทราบด้วย เขายังระบุว่าผู้นำพรรคคนนั้น ซึ่งเขาไม่ได้เปิดเผยชื่อ มีหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น
นิกม์เคยถือหุ้นไอทีวีเช่นกัน แต่ภายหลังโอนให้ผู้ร่วมงานชื่อ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ก่อนลงสมัคร ส.ส.ในฐานะตัวแทนพรรคภูมิใจไทย นิกม์พบว่าพิธาถือครองหุ้นและไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ (ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่านิกม์โอนหุ้นให้ภาณุวัฒน์เมื่อไร แต่หากเขาถือครองหุ้นตั้งแต่ตอนเป็นผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 เขาก็มีความผิดละเมิดมาตรา 151 เหมือนที่พิธาถูกกล่าวหา)
ในการประชุมประจำปี ภาณุวัฒน์ได้ถามคำถามที่น่าสงสัยว่า “บริษัทไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ครับ”
ตามวิดีโอการประชุม นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทตอบกลับว่า “ตอนนี้ บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆนะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”
ชัดเจนว่าคำถามของภาณุวัฒน์จงใจให้ได้คำตอบที่อาจนำไปตั้งข้อหากับพิธาได้ แต่เขาไม่ได้รับคำตอบที่ต้องการ แท้จริงแล้ว คิมห์ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าในปัจจุบันไอทีวีไม่ผลิตสื่อใดๆ
แต่เมื่อมีการเผยแพร่รายงานการประชุมประจำปี คำตอบของคิมห์ถูกแก้ไขเป็น “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” ซึ่งตรงกันข้ามกับที่สิ่งเขากล่าวก่อนหน้านี้ แต่คิมห์ก็ลงนามรับรองรายงานการประชุม
นายเรืองไกรใช้รายงานการประชุมนี้มายื่นเป็นหลักฐานประกอบการร้องเรียนกับ กกต. ในวันที่ 10 พฤษภาคม หากไม่มีการค้นหาหลักฐานมาโต้แย้ง พิธามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. และถูกดำเนินคดีอาญา
แต่แผนการนี้ถูกเปิดโปงโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย อดีตนักข่าวของไอทีวีซึ่งสืบเสาะหาหลักฐานและแหล่งข่าวที่ให้วิดีโอการประชุมดังกล่าวกับเธอ วิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ทางช่อง 3 เมื่อกลางดึกของวันอาทิตย์ ทำลายแผนการขัดขวางไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ หัวข้อข่าว “คืบเดียวของพิธาสู่ตำแหน่งนายกฯ” ปรากฎบนหน้าหนึ่งของ Bangkok Post วันที่ 13 มิถุนายนหลังการเปิดเผยว่ามีการดัดแปลงรายงานการประชุมประจำปีของไอทีวี
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ไอทีวีออกมาชี้แจง “บริษัท ไอทีวี ต้องชี้แจงต่อสังคมว่าทำไมรายงานการบันทึกการประชุมถึงไม่ตรงกับคำตอบที่ประธานฯตอบในที่ประชุม” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “และที่สังคมต้องตั้งคำถามต่อก็คือ พฤติการณ์แบบนี้เข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ เพื่อใช้เป็นเหตุกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องโทษคดีอาญา หรือไม่”
ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในไอทีวีคือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ด้วยสัดส่วน 52.92 เปอร์เซ็นต์ หลังจากการเปิดโปงว่ามีการแก้ไขรายงานการประชุม อินทัชสั่งไอทีวีให้ดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง ประธานกรรมการผู้จัดการของอินทัชคือ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการผู้จัดการของไอทีวีคือ คิมห์ สิริทวีชัย ผู้ที่จัดการประชุมสามัญประจำปี ตอบคำถามเรื่องการทำธุรกิจสื่อของไอทีวี และลงนามรับรองเอกสารการประชุมปลอมนั้นก็คือ... คิมห์ สิริทวีชัย แปลกแต่จริงที่งานนี้ดูเหมือนว่าคิมห์กำลังสั่งให้ตนเองสอบสวนเหตุการณ์ที่ตัวเองลงนามเอกสารปลอม ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการการสอบสวน เพราะเขาเพียงแค่ต้องออกมาอธิบายความจริง
อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พยายามหลบฉากไปจากแผนสมรู้ร่วมคิดนี้แม้ดูเหมือนจะพบร่องรอยว่าภูมิใจไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง ข้อกล่าวหาต่อพิธาถูกปั่นโดย นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย นอกจากนั้น ผู้ถือหุ้นหลักอีกรายของอินทัชคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีหุ้นมากกว่า 42 เปอร์เซ็นต์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของกัลฟ์คือ สารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีที่รวยเป็นอันดับสี่ของไทย (การจัดอันดับนี้ไม่รวมราชวงศ์) ที่ถือครองหุ้น 35 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท สารัชถ์มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับวชิราลงกรณ์และเป็นเพื่อนเก่าแก่ของอนุทิน อนุทินเองก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวังและติดตามวชิราลงกรณ์ไปชอปปิ้งที่ต่างประเทศ แต่เขายืนยันว่าพรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
“พรรคภูมิใจไทยยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าไม่เคยเสียเวลามาทำอะไรกับเรื่องพวกนี้ เพราะว่าเราไม่ชกใต้เข็มขัดอยู่แล้ว” อนุทินกล่าว “ผมเป็นเพื่อนคุณสารัชถ์ 40 ปีแล้ว แต่เรื่องการทำงานรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่าไปผูกโยงครับ”
ประวิตรก็ปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้แม้ว่าเรืองไกรจะเป็นผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ โดยยืนยันว่าเรืองไกรทำเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค
สารัชถ์มีแรงจูงใจในการสกัดกั้นพรรคก้าวไกลจากการเป็นรัฐบาล เนื่องจากพรรคมีนโยบายจะทำลายการผูกขาด สร้างโอกาสการแข่งขันและลดรายจ่ายค่าพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียประโยชน์ของกัลฟ์เอ็นเนอร์จี้โดยตรง ก้าวไกลเสนอแผนที่จะเปิดเสรีอุตสาหกรรมด้านพลังงานโดยการอนุญาตให้ประชาชนจ่ายค่าไฟโดยตรงจากผู้ผลิต และเจรจาข้อตกลงกับผู้ผลิตพลังงานใหม่ รายได้ส่วนใหญ่ของกัลฟ์เอ็นเนอร์จี้มาจากสัญญาผูกขาดระยะยาวที่ทำกับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยหรือพลังประชารัฐจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้หรือไม่ คงต้องมีบุคคลที่ตำแหน่งสูงกว่า คิมห์ สิริทวีชัย อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารการประชุม ชัดเจนว่ามีการชักใยอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้
ในระหว่างนี้ เรืองไกรกำลังยื่นอุทธรณ์ต่อการปฏิเสธคำร้องของเขาและยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ กกต. แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่หลักฐานที่เป็นข้อมูลสำคัญ
ในวันที่ 15 มิถุนายน ไอทีวีออกแถลงการณ์เพื่ออธิบายเรื่องราวทั้งหมด โดยอ้างว่าเหตุที่คำตอบของคิมห์ไม่เหมือนกับรายงานการประชุมเป็นเพราะรายงานการประชุมเป็นเพียงการบันทึกภาพรวมของการประชุมมากกว่าจะบันทึกตรงตามคำพูด และยืนยันว่ารายงานการประชุมไม่มีเจตนาจะสื่อว่าไอทีวียังดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนอยู่ ในความเป็นจริง แหล่งของรายได้เดียวนั้นมาจากการลงทุนและดอกเบี้ย ข้อความดังกล่าวเป็นการยืนยันจากไอทีวีโดยตรงว่าไม่ควรถือว่าเป็นธุรกิจสื่อ
เมื่อแผนล้มล้างถูกเปิดโปงและไอทีวีได้ชี้แจงว่าไม่ได้ดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนแล้ว ดูเหมือนว่าโอกาสที่พิธาจะถูกตัดสิทธิ์หรือดำเนินคดีลดน้อยลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า
กฏหมายมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติว่า ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 50 คนหรือสมาชิกวุฒิสภาเพียง 25 คนถึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร สส. ของพิธา แม้ว่าหลักฐานที่มีอยู่จะอ่อนแอ แต่หากศาลรับเรื่องและดำเนินการพิจารณาคดี พิธาจะถูกระงับสิทธิ์เพื่อรอพิจารณาคดี หากถูกระงับ เขาจะไม่มีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ และเมื่อเขาเป็นเพียงแคนดิเดตหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล พรรคอื่น เช่น พรรคเพื่อไทย จะมีโอกาสเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯแทน สถานการณ์นี้ไม่เป็นผลดีต่อการผลักดันนโยบายก้าวหน้าต่างๆของพรรคอย่างแน่นอน
แผนลับ #2
ผู้นำพรรคเพื่อไทยต่างตกตะลึงเมื่อถูกพรรคก้าวไกลเขี่ยตกลงมาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้ง แต่แทนที่จะจมอยู่กับความผิดหวัง เพื่อไทยกลับรีบประกาศว่าจะสนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีและร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล พรรคร่วมทั้งแปดต่างออกมาสร้างบรรยากาศของความพร้อมทำงานร่วมกัน แต่ความเป็นจริงที่น่าอึดอัดคือการที่อีกเจ็ดพรรคไม่มั่นใจกับการส่งพิธาเป็นนายกฯคนต่อไป
พรรคเพื่อไทยมีความกังวลเป็นพิเศษต่อนโยบายที่เป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมของก้าวไกลและมีความกลัวว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเสียงของผู้สนับสนุนหัวก้าวหน้าจะเทไปที่พรรคก้าวไกล แม้เพื่อไทยจะสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคสนับสนุนประชาธิปไตย แต่พรรคมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง แต่ก็ไม่อนุรักษ์นิยมเท่าพรรค “ลุง” การผลักดันนโยบายของเพื่อไทยขาดความต่อเนื่องชัดเจนและยังมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรเป็นหลักโดยการทำทุกวิถีทางเพื่อพาทักษิณกลับบ้าน
เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้สรุปความแตกต่างระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลไว้อย่างน่าสนใจว่า “เพื่อไทยเป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนที่จะดึงผลประโยชน์เพิ่มจากระบบ ในขณะที่ก้าวไกลเป็นตัวแทนความต้องการของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงระบบ ความแตกต่างนั้นลึกลงไปในระดับวิธีคิด”
ผู้นำพรรคเพื่อไทยและร่วมอื่นๆ ไม่ได้ร่วมมือกับก้าวไกลก่อนหน้านี้เพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่พรรคนำเสนอ พวกเขากำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะถ้าหากไม่สนับสนุนก้าวไกล ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกไม่สนับสนุนประชาธิปไตยและอาจจะถูกลงโทษจากผู้สนับสนุนพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ผู้นำพรรคเพื่อไทยหลายคนต่างหวังลึกๆว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการรักษาหน้าของพรรคและจะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทนได้อย่างชอบธรรมโดยไม่มีพรรคก้าวไกล เพื่อไทยอาจอ้างว่าพวกเขาได้ทำทุกวิถีทางแล้วในการส่งก้าวไกลเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผันพวกเขาจำต้องใช้วิธีอื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ
ผู้นำพรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธอย่างชัดเจนหลายครั้งว่าไม่มีการเจรจาลับเพื่อตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกล แต่ก็เหมือนทุกครั้งที่พวกนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทำตัวแปลกและปฏิเสธอะไรก็ตาม พวกเขากำลังโกหก
ในความเป็นจริง ทักษิณ ชินวัตร และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้วางแผนร่วมกันมามากกว่าสองปีด้วยดีลที่ว่าเพื่อไทยจะสนับสนุนประวิตรให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และประวิตรจะตอบแทนให้ทักษิณได้เดินทางกลับบ้านโดยไม่ต้องถูกจำคุก บุคคลที่เป็นตัวกลางในการประสานดีลนี้คือ ธรรมนัส พรหมเผ่า มือขวาของประวิตรและตัวละครที่มักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เขาเคยติดคุกในประเทศออสเตรเลีย 4 ปีจากข้อหาลักลอบขนเฮโรอีนเข้าประเทศ ซึ่งเขาปฏิเสธตลอดมาจนกระทั่งมีนักข่าวออกมาเปิดโปงบันทึกของศาล เขายังแต่งเรื่องว่าตนนั้นบริสุทธิ์เพราะผงที่ตำรวจออสเตรเลียยึดไปมันคือแป้ง ไม่ใช่เฮโรอีน เขายังเคยติดคุกสามปีจากข้อหาข่มขืนกระทำชำเราและฆาตกรรมนักวิชาการชายคนหนึ่งและถูกปล่อยตัวออกมาในที่สุด เขาสร้างวุฒิการศึกษาปลอมจากมหาวิทยาลัย Calumus International University ซึ่งเขียนวิทยานิพนธ์ยาว 12 หน้ารวมเชิงอรรถและบรรณานุกรมและมีผู้เขียนร่วมกัน 5 คน ในปี 2559 รายงานลับของกองทัพภาคที่ 1 ทหารรักษาพระองค์ระบุชื่อธรรมนัสเป็น 1 ใน 4 อาชญากรใหญ่ในกรุงเทพฯ เขาโกหกแม้กระทั่งเรื่องป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลในปี 2562
แม้ว่าจะมีประวัติเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและมีพฤติกรรมประหลาด ธรรมนัสได้กลายเป็นตัวประสานทางการเมืองของประวิตร เขาเป็นนักการเมืองสีเทาที่คอยทำเรื่องสกปรก เช่น ซื้อเสียง ติดสินบน ข่มขู่ รังควาน และแบล็กเมล เขาเคลมว่าตนเป็น “เส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงหัวใจของรัฐบาล” และโอ้อวดว่าไม่มีใครสามารถทำอะไรเขาได้เพราะเขารู้ความลับและดีลลับมากมาย เขาปูทางให้พลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นในเดือนธันวาคม 2563 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีอำนาจรองจากประวิตรที่เป็นหัวหน้าพรรค
แผนการโค่นประยุทธ์และพาทักษิณกลับบ้านถูกเปิดโปงในเดือนสิงหาคม 2564 ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประวิตรและทักษิณวางแผนโจมตีประยุทธ์โดยการโน้มน้าวให้ผู้แทนพรรคพลังประชารัฐโหวตไม่ไว้วางใจประยุทธ์ร่วมกับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ด้วยความช่วยเหลือของทักษิณ ประวิตรจะสามารถขึ้นเป็นนายกฯได้ และหลังจากนั้นประวิตรก็ใช้เครือข่ายอำนาจในหมู่ชนชั้นนำพาทักษิณกลับบ้านโดยไม่ถูกขัดขวางจากคู่แข่งในสภาหรือผู้ประท้วง
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ทักษิณมั่นใจว่าเขาจะกลับบ้านเร็วๆนี้ "ผมกลับแน่" เขาประกาศกลางไลฟ์ในคลับเฮ้าส์ที่เขาใช้ชื่อแทนตัวว่า Tony Woodsome ในเดือนกรกฎาคม 2564 “แต่ขอบอกเวลาทีหลัง ยังไงไปประตูหน้าไม่ประตูหลังแน่นอนครับ" ข้อความดังกล่าวทำให้ทวิตเตอร์ลุกเป็นไฟด้วยแฮชแท็ก #พี่โทนี่กลับไทยแน่ ซึ่งมีการทวีตมากกว่าห้าแสนครั้งในช่วงหลายวันถัดมา
ธรรมนัสได้รับมอบหมายให้โน้มน้าวสมาชิกพลังประชารัฐให้แทงข้างหลังประยุทธ์ แต่เขาก็ทำพลาดเมื่อไม่สามารถเก็บความลับไว้ได้ ประยุทธ์รู้แผนนี้ไม่กี่วันก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งทำให้เขาตั้งรับการจู่โจมครั้งนี้ได้ ทีมของประยุทธ์กดดันและติดสินบนสมาชิกพรรคเพื่อให้สนับสนุนเขา ประยุทธ์ส่งข้อความตัดพ้อผ่านไลน์ถึงประวิตรหลังจากตกใจที่รู้ว่าถูกพี่ชายที่รักหักหลัง “ทำไม ส.ส. พวกนั้นไม่สนับสนุนผม ผมทำอะไรผิด ผมทำงานหนัก”
เมื่อถูกเปิดโปง ประวิตรปฏิเสธทุกอย่างและโยนความผิดให้ธรรมนัส ประยุทธ์ปลดธรรมนัสออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2564 พร้อมกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ประวิตรยังเก็บธรรมนัสไว้ข้างตัวโดยมอบตำแหน่งเลขาธิการพรรคให้ อย่างไรก็ตามในเดือนมกราคม 2565 ธรรมนัสออกจากพลังประชารัฐหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดสงขลาและชุมพร
แผนโค่นประยุทธ์ในเดือนสิงหาคม 2564 เผยให้เห็นรอยร้าวระหว่างเขาและประวิตรอย่างชัดเจน ทั้งสองพยายามออกมายืนยันว่ายังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในฐานะพี่น้องและไม่มีทางแยกจากกัน แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ประวิตรเผยธาตุแท้ว่าต้องการเป็นนายกฯและจะร่วมมือกับทักษิณเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คุณสามารถอ่านบทวิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ในเดือนสิงหาคม 2564 ได้ในบทความ “The plot that nearly toppled Prayut”
ในเดือนมกราคมปีนี้ ประยุทธ์เข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในขณะที่พลังประชารัฐจะเสนอชื่อประวิตร ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคนเปิดเผยชัดเจนมากขึ้น
ในเดือนถัดไป ธรรมนัสย้ายกลับมาอยู่กับพลังประชารัฐ และเจรจากับทักษิณอีกครั้งเพื่อตกลงเรื่องความร่วมมือระหว่างพลังประชารัฐและเพื่อไทย
ประยุทธ์เป็นรอยัลลิสต์แท้ที่ทั้งเกลียดและกลัวทักษิณ ส่วนประวิตรมีลักษณะประนีประนอมมากกว่า ประวิตรมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับทักษิณมามากกว่าสองทศวรรษ ตระกูลวงษ์สุวรรณมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของ พจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของทักษิณ ในปี 2547 เมื่อทักษิณกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทักษิณจำต้องถอด ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้องของตนออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและแต่งตั้งประวิตรขึ้นมาแทน หากทักษิณเลือกแคนดิเดตคนอื่น ประวิตรคงไม่ได้มาไกลขนาดนี้ ทักษิณยังสนับสนุนให้ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของประวิตรได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจในปี 2551 ประวิตรคงไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ขนาดนี้หากไร้ความช่วยเหลือจากทักษิณ
แม้ภายนอกดูเหมือนประวิตรจะมีความเป็นรอยัลลิสต์และทักษิณทำทีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ทั้งคู่ไม่ได้สนใจเรื่องอุดมการณ์ เพราะพวกเขาเป็นพวกปฏิบัตินิยมและเน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมือง สำหรับพวกเขาศัตรูที่เคยบาดหมางสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันใหม่ได้หากมีเรื่องที่สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย การหักหลังและแทงข้างหลังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมการเมือง ประวิตรและทักษิณเคารพกันและกันในแง่ของความเก๋าเกม พวกเขาไม่เก็บมาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว
กลุ่มชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่ที่เกลียดกลัวทักษิณมากว่าสองทศวรรษเพิ่งเข้าใจว่าเขาไม่ใช่ตัวอันตรายที่จะมาทำลายอำนาจเดิมของพวกเขา ทักษิณเป็นเพียงไดโนเสาร์ตัวหนึ่งที่อาจจะมีความก้าวหน้ามากกว่าพวกอนุรักษ์นิยมคนอื่นแต่เขาไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างของสังคมไทย เขาไม่ได้เป็นภัยต่อกองทัพและสถาบันกษัตริย์ เขาเพียงอยากกลับบ้านและกลับสู่อ้อมกอดของกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น
พรรคก้าวไกลและกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่างหากที่เป็นคู่ปรับกับกลุ่มชนชั้นนำ ไม่ใช่ทักษิณ ดังนั้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแสการต่อต้านทักษิณกลับบ้านจึงอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด และประวิตรก็อาจจะรอดพ้นจากการถูกโจมตีหากเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีและออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณได้กลับบ้านโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตามรูปการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เพื่อไทยต้องหันหลังให้ก้าวไกล
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประวิตรทำงานหนักเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์และสร้างความนิยมให้ตนเอง จากภาพลุงน่าเวทนาที่หาวตลอดเวลาและเดินไม่ค่อยไหวหากไม่มีใครประคอง เขาเริ่มแต่งตัววัยรุ่นมากขึ้น ไปหาเสียงด้วยชุดกางเกงยีนส์คาลวินไคลน์ แจ็คเก็ตกุชชี่ เสื้อฮิวโก้บอส และรองเท้าผ้าใบ เป็นต้น ในการปราศรัยและโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เขาพยายามรีแบรนด์ตัวเองให้ดูเป็นผู้รักสันติที่จะสามารถประสานรอยร้าวของฝ่ายต่างๆที่บั่นทอนความมั่นคงของไทยมาเป็นเวลานาน
“พรรคพลังประชารัฐ ยินดีที่จะทำเพื่อประชาชน นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ ขอให้ทุกคนก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน”ประวิตรประกาศในการหาเสียงเดือนเมษายน
ความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากต่อผลงานของรัฐบาลประยุทธ์และเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาทำให้คนคาดการณ์ว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลาย เพื่อไทยก็สร้างความเชื่อมั่นด้วยการให้ผู้นำพรรคแสดงเป้าหมายว่าจะสามารถคว้าเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้ แต่เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ พรรคต้องเชิญภูมิใจไทยและพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาล
เป็นเวลาหลายปีที่เพื่อไทยปฏิเสธที่จะทำงานร่วมกับภูมิใจไทยเพราะพรรคถูกชักใยจาก เนวิน ชิดชอบ อดีตพันธมิตรของทักษิณที่ภายหลังปี 2551ได้หักหลังเขาโดยการร่วมโค่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มีทักษิณอยู่เบื้องหลังและส่งให้พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นรัฐบาลแทน แต่ก็เป็นปกติของการเมือง หลายปีผ่านไปหลังจากถูกเนวินหักหลัง ทักษิณก็ไม่ติดใจเรื่องอุดมการณ์และเห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลกับอนุทิน
ธรรมนัสยังคงเดินหน้าประสานงานระหว่างประวิตร อนุทิน และทักษิณ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ธรรมนัสเดินทางไปดูไบด้วยสายการบินเอมิเรตส์ ไฟลท์ EK375 เพื่อพบปะและเจรจากับทักษิณ แหล่งข่าวคนหนึ่งเดินทางไปในไฟลท์เดียวกันกับธรรมนัสและได้ถ่ายรูปเขาในขณะที่นั่งอยู่ในห้องรับรองของสายการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ธรรมนัสเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวกลางในการต่อรอง เนื่องจากเขาเป็นคนเก่าแก่และได้รับความไว้วางใจจากทั้งประวิตรและทักษิณ เขาเข้าร่วมพรรคไทยรักไทยในปี 2542 และเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของเพื่อไทยในปี 2557 ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพลังประชารัฐในปี 2561 ประวิตรและทักษิณต่างไม่ถือสาประวัติอาชญากรรมของเขา เพราะทั้งคู่ก็มีเครือข่ายผู้คนที่คอยทำงานใต้ดินให้โดยที่ตนเองไม่ต้องเสี่ยงทำผิดกฏหมาย
เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ประวิตร ทักษิณ และอนุทินต่างมั่นใจว่าตนพร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันจากการเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาสูงสุด ประวิตรมีกลุ่ม สว. หนุนหลังซึ่งจะทำให้เขาได้เสียงมากพอที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างง่ายดาย เพื่อไทยจะได้ร่วมรัฐบาล และทักษิณจะได้รับการนิรโทษกรรมอย่างราบรื่น ประวิตรเตรียมตัวเป็นนายกฯ และทักษิณเตรียมตัวกลับบ้าน
แต่ผลการเลือกตั้งก็ทำให้ทุกฝ่ายตกตะลึง ไม่มีใครคาดว่าก้าวไกลจะได้ที่นั่งในสภาอย่างถล่มทลาย แผนของประวิตร ทักษิณ และอนุทินพังไม่เป็นท่า
เพื่อไทยกำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะหากพรรคไม่สนับสนุนก้าวไกลก็จะถูกกระแสโต้กลับจากผู้สนับสนุนพรรคที่เลือกเพราะเชื่อว่าเพื่อไทยอยู่ฝั่งประชาธิปไตยและประชาชน และยังเสี่ยงต่อการเสียภาพลักษณ์และถูกลงโทษจากผู้สนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากพวกเขาหักหลังก้าวไกล จะเป็นการเทคะแนนให้ก้าวไกลในฐานะพรรคคู่แข่งหัวก้าวหน้า ดังนั้นเพื่อไทยไม่มีทางเลือกนอกจากสนับสนุนก้าวไกล
แต่รูปการณ์นี้ไม่เป็นผลดีกับทักษิณเพราะเขาอยากจะกลับสู่อ้อมกอดของสถาบันอำนาจเก่าซึ่งเขาต้องสร้างภาพลักษณ์ว่าจะไม่เป็นปฏิปักษ์กับขั้วอำนาจเก่าและไม่เขย่าเรือให้โคลงเคลง ภาพลักษณ์ที่ทักษิณไม่อยากสร้างคือการเป็นพันธมิตรกับก้าวไกลที่มีนโยบายสุดโต่ง
นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดแกนนำเพื่อไทยจึงหวังลึกๆให้พิธาไม่ได้เป็นนายกฯแม้ว่าจะออกมายืนยันว่าจะสนับสนุนเขา พวกเขาจะได้ไม่เสียหน้าที่จะได้ตั้งรัฐบาลแทนและให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
ตามที่อรุณ สรนชัยเขียนไว้ในบทความของ Thai Enquirer “มีความเป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลแทนโดยร่วมกับภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อไทยไม่ได้หักหลังก้าวไกลเพราะสามารถอ้างว่าได้ช่วยสนับสนุนทุกวิถีทางแล้ว เพื่อไทยอาจให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องร่วมกับภูมิใจไทยและพลังประชารัฐไม่เช่นนั้นประยุทธ์และรัฐบาลรักษาการจะอยู่ต่อไปอีกนาน ในสถานการณ์นี้หากก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อไทยก็อาจเล่นบทเหยื่อและอ้างว่าพรรคได้ทำตามกติกาแล้ว แต่เป็นก้าวไกลเองที่เป็นเด็กใหม่ที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ทำให้ตกขบวนการไล่ประยุทธ์”
ยังมีหลายวิธีที่จะสกัดกั้นพิธาไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้เขาจะรอดจากการถูกตัดสิทธิ์จากมาตรา 98(3) หรือถูกดำเนินคดีตามมาตรา 151 หรือถูกระงับการทำงานเพื่อรอการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานาน เขายังต้องเจอด่านต่อไปคือการต้องมีเสียงอย่างน้อย 376 เสียงจาก ส.ส. 500 คน และ สว. 250 คนเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าเขาจะทำได้
ในปัจจุบันพรรคร่วมมีเสียงรวมกัน 312 เสียงซึ่งยังขาดอยู่ 64 เสียง ก้าวไกลอ้างว่าสามารถโน้มน้าว สว. ให้โหวตให้พิธาได้แล้วอย่างน้อย 40 เสียงซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกล่าวเกินจริง และถึงแม้จะจริงก็ยังไม่พอ สว.ส่วนใหญ่เกลียดก้าวไกลเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเรื่องกองทัพและสถาบันกษัตริย์ และจะไม่มีวันโหวตให้พิธา แม้แต่ สว. ที่เห็นว่าพิธาสมควรได้เป็นนายกฯเพราะพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งก็อาจต้องคิดหลายตลบว่าจะโหวตให้เขาดีหรือไม่ พวกเขากลัวจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศต่อสถาบัน บางคนอาจจะงดออกเสียง ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นผลดีต่อพิธา เขาต้องการคะแนนเพิ่ม
ตัวแปรที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือเสียงโหวตจากพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ที่ผ่านมาพรรคเหล่านี้เคยยืนยันว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งควรได้สิทธิ์โหวตคนของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี
ในเดือนมีนาคม อนุทินให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังพบกับประวิตรว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคที่รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร นี่คือการให้เกียรติประชาชนครับ อย่าไปบิดเบือนทั้งคำพูดและหลักการ” เขากล่าวต่อว่า “พล.อ.ประวิตร ท่านก็ยืนยันหลักการเดียวกัน คนที่ได้เสียงมากที่สุดในกลุ่มพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ก็ควรเป็นนายก”
หากอนุทินยึดตามหลักการที่ได้กล่าวมานี้ พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากได้รับ 71 เสียงจากภูมิใจไทยก็เพียงพอแล้วที่จะรวมเสียงได้มากกว่า 376 เสียง โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ส.พรรคอื่นและเสียงของ สว.
แต่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าอนุทินจะหาเหตุผลเพื่อเลี่ยงหลักการ มีหลายวิธีที่พรรคอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์จะใช้เพื่อไม่โหวตให้พิธา หากประเด็นเรื่องการถือหุ้นสื่อไอทีวีไม่กระจ่าง พวกเขาก็อ้างได้ว่าพิธาไม่เหมาะที่จะเป็นแคนดิเดตที่ควรจะโหวตให้ หรือพวกเขาอาจจะอ้างว่าไม่สามารถโหวตให้พิธาได้เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายสุดโต่งของก้าวไกลที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ สว.ก็อาจจะใช้เหตุผลเดียวกันในการไม่โหวตให้เขา
ถ้าวชิราลงกรณ์อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ พิธาจะไม่มีวันได้เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนดังที่ธนาธรและอนาคตใหม่เคยถูกตัดอนาคตมาแล้ว
เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ กล่าวในบทวิเคราะห์การเมืองไทยของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาว่า “การชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งสำหรับพรรคใหม่ ที่ชนะสงครามผ่านอุปสรรคมากมายด้วยความกล้าหาญและกองทัพไร้อาวุธ” และกล่าวต่อว่า “อย่างไรก็ตาม การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นงานที่ยากยิ่งกว่า เป็นมหาสงครามที่พิธาไม่มีแต้มต่อและอาจจะพ่ายแพ้ในที่สุด”
มีข้อมูลชัดเจนว่าการเจรจาลับระหว่างเพื่อไทย พลังประชารัฐ และภูมิใจไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีผู้ถ่ายภาพ เศรษฐา ทวีสิน อดีตคนรักของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย คู่กับ อนุทิน และ จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและเป็นคนสนิทของประวิตร ที่สนามคิงพาวเวอร์ในวันที่ 29 พฤษภาคมในการแข่งขันฟุตบอลนัดสุดท้ายก่อนปิดฤดูกาลระหว่างทีมเลสเตอร์ ซิตี้กับเวสแฮม
เศรษฐาอ้างผ่านทวิตเตอร์ว่าเขาพบกับอนุทินโดยบังเอิญที่สนาม “ส่วนคุณหนู ผมรู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว และบังเอิญเจอกันก็ยิ้ม ทักทายกันตามประสาคนรู้จักเท่านั้น ไม่มีคุยหรือดีลเรื่องการเมืองใดๆทั้งสิ้น ถ้าจะคุยกันคงไม่ต้องมาถึงอังกฤษมั้งครับ”
ผู้เข้าชมในการแข่งขันนัดนั้นมีจำนวน 32,183 คน ดังนั้นจึงยากที่จะเชื่อว่าเศรษฐาและอนุทินจะ "เจอกันโดยบังเอิญ" และนั่งใกล้กันขนาดนี้ เป็นไปได้ว่าทั้งคู่ถูกจัดให้นั่งใกล้กันโดย อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์ แต่การที่ทั้งเศรษฐา อนุทิน และจักรทิพย์อยู่ที่อังกฤษในเวลาเดียวกันทำให้เกิดข้อสงสัย ในขณะที่ประวิตรอ้างว่าเขาไม่รู้เรื่องที่จักรทิพย์เดินทางไปอังกฤษ
ถ้าพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาจัดตั้งรัฐบาลตามข่าวลือ พวกเขาจะมี ส.ส. ทั้งหมด 297 เสียงในสภาบวกกับเสียงสนับสนุนจาก สว. พวกเขาจะสามารถเลือกแคนดิเดตนายกที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตมหาเศรษฐีเจ้าพ่ออาบอบนวดและมือแฉคอรัปชั่น เปิดโปงผ่านโซเชียลมีเดียว่ามีการแอบนัดพบกันเพื่อคุยกันเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างตัวแทนเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย แม้ชูวิทย์มักจะสื่อสารด้วยวิธีพิสดาร แต่หลายครั้งข้อมูลที่เขาเผยแพร่นั้นแม่นยำ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทักษิณประกาศผ่านสื่อหลายครั้งว่าเขาจะกลับประเทศไทยก่อนวันเกิดครบรอบ 74 ปี ในวันที่ 26 กรกฎาคม ในอดีตทักษิณเคยพูดหลายครั้งว่าเขากำลังจะกลับบ้าน แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551ที่เขาลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ดูไบและลอนดอน แต่คราวนี้ดูเหมือนว่าเขาจะพูดจริง และเป็นครั้งแรกที่เขาระบุเวลาชัดเจน แพทองธาร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ลูกสาวของเขาซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตพรรคเพื่อไทยก็ออกมายืนยันหลายครั้งว่าบิดาของเธอจะกลับประเทศไทยเดือนหน้า
“ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนวันเกิดผมครับ” ทักษิณทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว “เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ”
ทักษิณกล่าวว่าเขายินดีจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อกลับถึงประเทศไทย เขาถูกตัดสินให้รับโทษรวมทั้งสิ้น 12 ปีจากคดีเกี่ยวกับการทุจริต 4 คดีซึ่งเขาอ้างว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ในการสนทนาผ่านคลับเฮ้าส์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เขาถูกถามว่าพร้อมที่จะติดคุกหรือไม่ ทักษิณตอบกลับว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”
หากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนาได้ เขาคงได้รับการนิรโทษกรรมอย่างรวดเร็ว แต่หากเพื่อไทยรักษาสัญญาและช่วยดันก้าวไกลให้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มอำนาจเก่าก็จะตามจองเวรเขาต่อไป
สูญพันธุ์
“นี่ไม่ใช่จุดจบแต่คือจุดเริ่มต้น” ปิยบุตร แสงกนกกุล รองหัวหน้าและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ กล่าวกับผู้สนับสนุนพรรคที่ไม่ยอมแพ้ต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เขากล่าวว่า “นี่คือไฟลามทุ่ง”
เขาพูดถูกต้อง คำตัดสินของศาลก่อให้เกิดการลุกฮือของกลุ่มผู้ประท้วงจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั่วประเทศไทย รวมถึงกลุ่มคนไทยทั่วโลก
ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เกิดการรวมตัวของ "แฟลชม็อบ" กลุ่มใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในไม่กี่วันเกิดการประท้วงในมหาวิทยาลัยมากกว่า 20 แห่ง มีการเดินขบวนประท้วงที่โรงเรียนชั้นนำของกรุงเทพฯ 2 แห่งคือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และโรงเรียนศึกษานารีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์
แต่ละสถาบันมีแฮชแท็กของตนเองบนทวิตเตอร์เพื่อจัดการชุมนุม และการชูสามนิ้วที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ในทุกแฟลชม็อบ การชุมนุมประท้วงในช่วงนี้ถือเป็นการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ประยุทธ์และพวกยึดอำนาจทำรัฐประหารในปี 2557 นอกจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นคือ การที่นักเรียนนักศึกษาเขียนป้ายวิพากวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ความไม่พอใจต่อวชิราลงกรณ์ที่เคยมีอยู่กระจัดกระจายในโซเชียลมีเดียเปลี่ยนเป็นการประท้วงบนถนนอย่างเป็นรูปธรรมในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน
หลังจากการอุ้มหายและฆาตกรรม วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองและเพื่อนของผมในเดือนมิถุนายน 2563 นักเรียน นักศึกษา และผู้สนับสนุนประชาธิปไตยต่างออกมาประท้วงอย่างกว้างขวาง
เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในปี 2563 เหล่านี้เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปตลอดกาล เป็นครั้งแรกที่ในการประท้วงใหญ่มีการวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันอย่างเปิดเผย พวกไดโนเสาร์ต่างตื่นตะลึงและหวาดกลัว
ความย้อนแย้งของปรากฏการณ์ในปี 2563 ในประเทศไทยคือ แม้ว่าวชิราลงกรณ์และอภิรัชต์พยายามจะปราบปรามและทำลายการประท้วงของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขากลับได้ผลที่ตรงกันข้าม เพราะพวกเขาได้ปลดปล่อยสิ่งที่พยายามจะกักขังมาตลอด
ความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นผลจากการที่รัฐบาลทหารใช้วิธีการรุนแรงเพื่อทำลายอนาคตใหม่และการไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการปฏิรูปประเทศ
หากวชิราลงกรณ์และอภิรัชต์ รวมถึงพวกไดโนเสาร์ สว. คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลยังดึงดันจะขัดขวางพิธา สวนกระแส 14 ล้านเสียงที่ก้าวไกลได้มา ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่บ้าระห่ำที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของตัวเอง
หากกลุ่มไดโนเสาร์ยังดึงดัน จะเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ อานนท์ นำภา และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมืองประกาศว่าประชาชนเป็นหมื่นพร้อมลงถนนหากประชาธิปไตยถูกทำลาย หากดูจากความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ก้าวไกล ถ้าพรรคไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาล จะเกิดความไม่พอใจในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ภายในกลุ่มเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมือง แต่จากทั้งสังคมไทย 14 ล้านเสียงที่ก้าวไกลได้มาจากการเลือกตั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความนิยมของพวกเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนหัวก้าวหน้า แต่ขยายไปในทุกกลุ่มอายุและทุกชนชั้น
ความพยายามในการขัดขวางพิธาและพรรคก้าวไกลที่ได้รับเสียงข้างมากไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลจะนำไปสู่ “วิกฤติการเมือง” สมยศกล่าวในขณะที่ชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง “การร้องเรียนและการรับเรื่องเป็นไปในทิศทางที่มีเจตนาร้ายและเป็นการโค่นล้มประชาธิปไตย”
พวกไดโนเสาร์จะบ้าระห่ำและดื้อดึงจะเสี่ยงให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่จะทำลายอำนาจของตัวเองและสถาบันกษัตริย์ไปตลอดกาลหรือไม่ พวกเขาจะเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง หรือทำรัฐประหารอีกครั้ง และยอมรับผลที่ตามมาได้หรือไม่
น่าเสียดายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ทำให้เราเห็นว่ากองทัพ สถาบันกษัตริย์ และกลุ่มชนชั้นนำไม่เคยเรียนรู้จากอดีตและมักจะเลือกวิธีเอาตัวรอดในระยะสั้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าจะใช้วิธีการระยะยาว พวกเขาอาจจะเลือกทำอะไรโง่ๆอีกครั้งในการทำลายพรรคก้าวไกล
หากเป็นเช่นนั้น ผลที่จะตามมาคือความโกรธแค้นของประชาชนจำนวนมากและชัยชนะที่มากขึ้นของก้าวไกลในการเลือกตั้งปี 2570 วิธีที่ดีกว่าคือการปล่อยให้ก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล ด้วยความที่ สส. ของพรรคยังอายุน้อยและอ่อนประสบการณ์ เมื่อต้องเจอกับความเป็นจริงในการบริหารประเทศ พวกเขาอาจจะพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคและสูญเสียความนิยมไปเอง การบังคับให้พวกเขาเป็นฮีโร่ผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยโดยการกีดกันไม่ให้เป็นรัฐบาลรังแต่จะเป็นการเพิ่มความนิยมให้พวกเขาในอนาคต และการใช้ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์มาอ้างเพื่อขัดขวางพรรคก้าวไกลจะก่อให้เกิดการโต้กลับที่รุนแรง
“การใช้วิธีดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาในขั้วความขัดแย้งทางการเมืองเป็นวิธีการที่อันตราย เพราะมันจะไปกระตุ้นความต้องการของคนที่อยากให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐและทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในจุดเปราะบาง” เควิน ฮิววิสัน เขียนวิเคราะห์ในเดือนที่ผ่านมา “ในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมควรกระตุ้นความไม่พอใจของก้าวไกลและผู้สนับสนุนหรือไม่ การใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและสถาบันกษัตริย์จะทำให้สถาบันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง”
เควินกล่าวต่อว่า “หากก้าวไกลถูกแย่งอำนาจ ประชาชนจะลุกฮือและตามด้วยการประท้วงแบบปี 2563 จะมีการพุ่งเป้าไปที่สัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ ความต้องการปฏิรูปสถาบันจะเพิ่มมากขึ้น อาจเกิดการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประเทศไปในแนวสาธารณรัฐซึ่งจะเป็นการท้าทายแกนความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยม นอกจากนั้นเราต้องไม่ลืมว่ากองทัพอาจจะเข้ามาแทรกแซง การที่วชิราลงกรณ์สามารถควบคุมกองทัพในกรุงเทพฯได้ จะส่งผลให้การทำรัฐประหารจะถูกมองว่ามีกลุ่มชนชั้นนำหนุนหลังและจะถูกโต้กลับอย่างรุนแรง สิ่งนี้จะเพิ่มความเสียหายให้แก่ตัวสถาบันเอง”
ในด้านของเพื่อไทยที่หากจะตั้งรัฐบาลโดยไม่มีก้าวไกล เพื่อไทยจะเจอกับปัญหาหนักเช่นกัน การร่วมมือกับประวิตรและประชาธิปัตย์แม้จะเป็นผลดีต่อการกลับบ้านของทักษิณโดยไม่ต้องได้รับโทษ แต่จะนำพาหายนะมาสู่เพื่อไทย ผู้สนับสนุนเพื่อไทยจะไม่พอใจเพราะพรรคอ้างว่าสนับสนุนประชาธิปไตยตลอดมา หากพรรคเลือกจะอยู่ข้างผู้นำคณะรัฐประหารที่เคยปล้นอำนาจตัวเองในปี 2557 และเลือกประชาธิปัตย์ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ประชาชนเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553 ภาพลักษณ์ของเพื่อไทยจะย่อยยับไม่มีชิ้นดีและจะถูกลงโทษให้แพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยินกว่าเดิมในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ดูเหมือนว่าจะมีความไม่ลงรอยกันภายในครอบครัวชินวัตรเอง แพทองธาร ลูกสาวของทักษิณวัย 36 ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นผู้นำพรรคในอนาคต ประกาศชัดเจนหลายครั้งว่าพรรคจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับก้าวไกล เธอเข้าใจสถานการณ์ของพรรคมากกว่าทักษิณว่าจะเกิดความเสียหายเพียงใดหากไม่รับฟังคนรุ่นใหม่
ตามที่เคน แมทธิส โลหเตปานนท์ เขียนไว้ในบทวิเคราะห์ของ Thai Enquirer ในเดือนที่ผ่านมาว่า “เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับสองจะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของพรรคจะเสียหายอย่างมากเนื่องจากได้ประกาศตลอดมาว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกล ผู้นำเพื่อไทยที่ยังทำใจไม่ได้ที่พรรคไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์รู้ดีว่าการตั้งรัฐบาลโดยผลักให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านจะทำให้เพื่อไทยสูญเสียคะแนนนิยมมากขึ้น และจะทำให้ก้าวไกลได้ สส. มากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
แต่หาก สว. และ ส.ส. จากภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ไม่โหวตให้พิธา และทำให้พิธามีเสียงไม่ถึง 376 เสียง สมการทางการเมืองอาจเปลี่ยนแปลง เคนตั้งข้อสังเกตว่า “หนทางยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ตาม คนอาจเปลี่ยนความคิดเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยจะถูกมองว่าเป็นการแข่งขันกับก้าวไกลหรือไม่ หากสถานการณ์ของก้าวไกลถึงทางตัน”
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเสมือนการทำประชาพิจารณ์เรื่องอำนาจของกองทัพและสถาบันกษัตริย์ ประชาชนจำนวน 2 ใน 3 แสดงให้เห็นผ่านการเลือกก้าวไกลและเพื่อไทยแล้วว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตยและไม่ต้องการอำนาจกองทัพ จำนวนของคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้น ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง อำนาจของกองทัพและสถาบันกษัตริย์จะลดลง ลักษณะของประชากรเป็นตัวแปรสำคัญของความเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้สูงอายุที่เป็นรอยัลลิสต์กำลังทยอยเสียชีวิต ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หากพวกไดโนเสาร์ยังโง่และเลือกขัดขวางพิธาและก้าวไกล พวกเขาจะปลุกความโกรธแค้นของคนไทยและเร่งให้ตัวเองไปสู่จุดจบเร็วยิ่งขึ้น
“กลุ่มชนชั้นนำไทยควรพยายามเจรจาต่อรองในขณะที่ยังทำได้” ฐิตินันท์เสนอไว้ในบทความของ Nikkei Asia
"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธาและพรรคก้าวไกล ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ระบบการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 จะถูกตรวจสอบและกดดันให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการเจรจาต่อรองและการหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้กองทัพ สถาบันกษัตริย์ และสถาบันอำนาจอื่นๆได้ต่อรองอำนาจที่ไม่ใช่การรวบอภิสิทธิ์ทุกอย่างเอาไว้ทั้งหมดฝ่ายเดียว แต่ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น”
เขาเพิ่มเติมว่า “สังคมได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนแล้ว หากกลุ่มอำนาจเก่ายังดื้อดึงจะเล่นเกมแบบเดิมอย่างในอดีต พวกเขาจะสูญเสียทุกอย่างให้พลังการเปลี่ยนแปลงจากรอบด้าน และการเมืองแบบแบ่งขั้วแบ่งข้างจะตามหลอกหลอนพวกเขาต่อไปอีกนาน”
สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ช้าก็เร็ว ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์อย่างแน่นอน
Where is the promised English language version of this article???