Secret Siam

Share this post

พึงระวังริบบิ้นสีดำ

secretsiam.news

Discover more from Secret Siam

Exclusive information and insight on Thai politics, history and the elephant in the room
Over 21,000 subscribers
Continue reading
Sign in

พึงระวังริบบิ้นสีดำ

Andrew MacGregor Marshall
Mar 3, 2021
23
Share this post

พึงระวังริบบิ้นสีดำ

secretsiam.news
Share

สวัสดีครับทุกคน ยินดีต้อนรับสู่บทความพิเศษของ Secret Siam เกี่ยวกับระบบระเบียบการลงโทษของวชิราลงกรณ์และเหตุการณ์กระฉ่อนที่เกิดขึ้นในวังทวีวัฒนา บทความนี้มีพื้นมาจากบทความของผมในปี 2560 แต่ในเวอร์ชั่นนี้ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาที่ผมได้รับมาหลังจากนั้น บทความนี้เป็นบทความที่อ่านได้ฟรี แต่ถ้าคุณเห็นว่า Secret Siam เป็นประโยชน์กับคุณ โปรดพิจารณาสมัครสมาชิกเพื่อที่คุณจะได้รับข่าวสารทั้งหมดที่ผมจะนำเสนอ รวมถึงเข้าถึงบทความเก่าของผมในคลังความรู้บนเว็บไซต์นี้

อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่สะดวกสมัครสมาชิก คุณยังสามารถรับข่าวสารฟรีเช่นบทความนี้ได้ เพียงกรอกอีเมล


ละครในงานศพ

ภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ไร้ความปรานี ทหารและข้าราชบริพารในวังหลายร้อยคนยืนนิ่งไม่ไหวติงเพื่อรอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 แห่งประเทศไทย เสด็จออกเพื่อร่วมพิธีถวายพระเพลิงในงานพระบรมศพพระราชบิดาของเขา

วันนี้เป็นวันสำคัญของพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ – 26 ตุลาคม 2560 – เมื่อพระโกศปิดทองซึ่งเป็นบรรจุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรค่อย ๆ เคลื่อนผ่านไปตามถนนในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนรถแห่อันหรูหราไปยังพระเมรุหลวงที่ซึ่งพระบรมศพจะถูกเผาในหอพระเมรุที่สูงลิ่ว

พิธีถวายพระเพลิงนี้จะนับเป็นพิธีลงโทษองค์รักษ์และข้าราชบริพารก็ว่าได้ เพราะพวกเขาจะต้องใส่เครื่องแบบสีแดงและรัดรูปไปจนสุดปลายคอ รวมถึงสวมหมวกกำมะหยี่ทรงสูงที่ทั้งหนาและหนักที่ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากหมวกหนังหมีของทหารยุโรปในหลายศตวรรษก่อนเข้าร่วมพิธี เครื่องแบบนี้ออกแบบโดยไม่เอื้อกับการใช้งานจริงในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยความว่ารัชกาลที่ 5 ซึ่งครองราชย์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ได้พยายามต่อต้านการล่าอาณานิคมด้วยการรับเอาพิธีกรรม วัฒนธรรม และเครื่องแบบบางอย่างของราชวงศ์ในโลกตะวันตกมาใช้

ตัววชิราลงกรณ์เองก็ต้องสวมเครื่องแบบเต็มยศนี้เพื่อร่วมพิธีถวายพระเพลิงเช่นกัน และช่างภาพก็ถ่ายภาพตัวเขาเหงื่อท่วมในเครื่องแบบนี้ด้วย

มีการถ่ายทอดพิธีถวายพระเพลิงนี้ในทุกช่องโทรทัศน์ ผู้คนนับแสนเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพมหานครเพ่อเข้าร่วมพิธีประวัติศาสตร์นี้ และผู้คนนับล้านต่างจับจ้องมองพิธีนี้ผ่านทางการออกอากาศเช่นกัน ทุกขั้นตอนของพิธีการมีการวางแผนและซักซ้อมอย่างดีอย่างน้อยถึงสามครั้ง ทางวังต้องการให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม ในพิธีมีองครักษ์คนหนึ่งพ่ายแพ้ต่อความร้อนและเป็นลมล้มลง ทุกคนที่ดูการถ่ายทอดจะเห็นว่าองครักษ์คนนั้นล้มลงไปกับพื้น เจ้าหน้าที่คนอื่นรุดเข้าไปช่วยและพยุงเขาให้กลับมายืนได้ ถึงแม้ด้วยท่าทีอิดโรย อ่อนแรง และวิงเวียน เขาก็ยังประคองตัวเองและทำหน้าที่ในพิธีไปได้

เมื่อสมาชิกราชวงศ์เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว พวกเขาดูมีปฏิกิริยากับการล้มลงขององครักษ์คนนี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่กองทหารจะเป็นลมหมดสติในสถานการณ์เช่นนี้ – ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร มีทหารในกองราชองครักษ์ 5 คนเป็นลมหมดสติในพิธี Trooping the Colour ที่พระราชวังบัคกิ้งแฮมเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่รายงานว่าเป็นเพราะอากาศอุ่นผิดปกติในวันนั้น อย่างไรก็ตาม แม้แต่คลื่นความร้อน (heat wave) ในกรุงลอนดอนก็ยังจะเย็นและชื้นน้อยกว่าอากาศอบอ้าวในกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม วชิราลงกรณ์ต้องการความสมบูรณ์แบบจากทหารของเขา เขาหมกมุ่นกับเรื่องเครื่องแบบให้ต้องถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว รวมถึงต้องการให้องครักษ์ทำตามการฝึกซ้อมโดยไม่มีความผิดพลาดแม้แต่ประการเดียว อีกทั้งยังต้องการให้สภาพร่างกายของทหารสมบูรณ์ที่สุด

ทหารไทยรู้ดีว่าความซวยจะตามมาถ้าเขาทำให้วชิราลงกรณ์ขัดใจกับความผิดพลาดเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ พวกเขารู้ว่าถ้าเหตุไม่คาดฝันแบบนั้นเกิดขึ้นเขาจะถูกพาตัวไปลงโทษในค่ายที่วังทวีวัฒนาทางตะวันตกของกรุงเทพฯ

วชิราลงกรณ์เป็นคนตัดสินระยะเวลาการลงโทษโดยใช้ระบบ Black ribbon หรือโบว์สีดำ

  • ริบบิ้นสีดำหนึ่งเส้น: หนึ่งเดือน

  • ริบบิ้นสีดำสองเส้น: สามเดือน

  • ริบบิ้นสีดำสามเส้น: เก้าเดือน

คนที่เป็นลมในงานศพคือนาวาอากาศเอกกฤตนัย พันธบุตร ทหารเรือในทหารราชองครักษ์ แหล่งข่าวทางการทหารให้ข้อมูลว่าเขาได้รับโบว์สีดำสามเส้นจากวชิราลงกรณ์ที่หัวเสียอย่างมาก เขาถูกลงโทษอยู่ในค่ายลงโทษของวชิราลงกรณ์เป็นเวลา 9 เดือนและถูกลดชั้นให้เป็นทหารธรรมดาในกองมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904

ในพระราชพิธีฯ นาวาอากาศเอกกฤตินัยมีหน้าที่ถือธงชัยพระครุฑพ่าห์ที่เป็นธงนำรบสำคัญอย่างยิ่งของราชวงศ์ แหล่งข่าวได้ให้ข้อมูลว่าเหตุผลในการลงโทษนาวาอากาศเอกกฤตินัยเพราะเขาทำธงชัยพระครุฑพ่าห์ตกพื้น ซึ่งถือเป็นลางไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับราชวงศ์


การฝึกอบรมและการล้างสมอง

วชิราลงกรณ์มีวังอยู่หลายวังในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วังทวีวัฒนาเป็นหนึ่งในนั้น วังนี้เคยที่อยู่ของเขากับศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตหญิงให้บริการในผับและภรรยาอย่างเป็นทางการคนที่สามของเค้าที่เค้าแต่งงานด้วยอย่างเงียบ ๆ ในปี 2544 ในวังทวีวัฒนามีเครื่องบินเก่าสะสมจอดอยู่สองลำ หนึ่งในนั้นคือ Douglas C-47 รุ่นในช่วงทศวรรษ 2480 เครื่องบินลำนี้เคยจอดโชว์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศที่สนามบินดอนเมือง ก่อนที่เขาจะสั่งให้เอามาให้เค้าในปี 2550

หลังจากปี 2550 วชิราลงกรณ์เริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่ประเทศเยอรมนีร่วมกับสุทิดา ติดใจ

อดีตแอร์โฮสเตสการบินไทย และในปี 2557 เขาหย่ากับศรีรัศมิ์ ถอดยศศักดิ์ และขับไล่เธอจากวังทวีวัฒนา หลังจากนั้นเขาทำการทารุณอย่างร้ายแรงด้วยการจับศรีรัศม์และญาติของเธอซึ่งรวมถึงพ่อแม่วัยชราและพี่ชายน้องชายสามคนที่เคยทำงานกับเขาขังคุกทั้งหมด

วชิราลงกรณ์เปลี่ยนวังของเขาให้กลายเป็นค่ายฝึกทหารสำหรับผู้เข้าร่วมกองมหาดเล็กรักษาพระองค์904 ที่เขามีอำนาจบัญชาการเต็ม ทหารและเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะยศสูงต่ำแค่ไหนจะถูกบังคับให้มาฝึกอย่างทรหดที่นี่อย่างน้อย 3 เดือน การฝึกซ้อมเช่นการบังคับออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการล้างสมองทางการเมือง พวกเขาถูกกักอยู่ในค่ายทหารในวังนี้ตลอดการฝึกและถูกห้ามติดต่อกับครอบครัว

ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคอมเพล็กซ์นี้มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเริ่มจากเคยเป็นเพียงทุ่งร้าง ผ่านช่วงปีที่มีการปรับปรุงที่ดินขุดทะเลสาบรอบโครงสร้างวัง มาจนถึงปัจจุบันที่โครงสร้างค่ายกักกันแบบทหารถูกเพิ่มเติมเข้ามา

ทหารที่ผ่านหลักสูตรเร่งรัดจากวังทวีวัฒนาจะได้สิทธิ์สวมเสื้อยืดฝึกขอบแดงในเครื่องแบบของพวกเขาได้ พวกเขามีชื่อเล่นว่า “ทหารขอบแดง” นายพอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพไทยเคยให้ความเห็นว่า “การผ่านหลักสูตรนี้ช่วยให้ทหารเหล่านั้นมีแต้มต่อที่จะได้เลื่อนยศและขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในกองทัพหรือกองกำลังได้

 ก่อนที่จะมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ก็เข้ารับการฝึกนี้ในปี 2561 รวมถึงพลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้รับตำแหน่งผู้บัญชาการฯ คนต่อมาก็ผ่านหลักสูตรวังทวีวัฒนานี้เช่นกัน

ในปี 2562 วชิราลงกรณ์สั่งให้ทหารระดับสูงในทุกเหล่าเข้าร่วมการฝึกพิเศษที่วังทวีวัฒนาเป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยไม่สนใจว่าจะอายุเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่สูงอายุบางคนที่ปฏิเสธขอไม่เข้าร่วมเนื่องจากปัญหาสุขภาพก็ถูกปลดเข็ม วปร. บนไหล่ของเขา ซึ่งหมายถึงการไม่ให้เป็นเจ้าหน้าที่ราชองครักษ์อีกต่อไป

ถึงแม้ทหารและตำรวจบางคนจะอาสาเข้าร่วมกองราชองครักษ์เองเพราะมองว่าเป็นทางลัดไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพ แต่หลายคนกลับไม่มีทางเลือก ทหารตำรวจไม่น้อยถูกสั่งให้มาเข้าร่วมและมีบทลงโทษรุนแรงถ้าหากปฏิเสธ อย่างที่ผมเคยรายงานไปในปี 2562 เรื่องของผู้บัญชาการตำรวจจักรทิพย์ ชัยจินดาสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 873 นายเข้าร่วมการฝึกในหลักสูตรวังทวีวัฒนาเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จนถึง 31 มีนาคม 2563 เพื่อเตรียมเข้าประจำการกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภ กองมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นายตำรวจทั้ง 873 นายได้ไปรายงานตัวที่ทวีวัฒนาตามคำสั่ง แต่มีนายตำรวจจำนวน 100 คนแจ้งว่าพวกเขายังไม่พร้อมเข้ารับการฝึกด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่นภาระหน้าที่ทางครอบครัว ทำให้ไม่พร้อมจะจากบ้านไปถึง 6 เดือน แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาโดนลงโทษด้วยการให้ไปรายงานตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วิภาวดีในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 เวลา 10 โมงเช้า เพื่อจะพบว่าพวกเขาถูกพาตัวไปด้วยรถขนส่งตำรวจสามคันไปยังสนามบินและถูกส่งไปจังหวัดยะลาเพื่อโดนฝึกลงโทษ (ซ่อม) ในพื้นที่ขัดแย้งและเสี่ยงอันตรายจากการก่อการร้าย (เหตุการณ์นี้เพิ่งถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นโดยส.ส.รังสิมันต์ โรม เกี่ยวกับการแทรกแซงตำรวจโดยทางวัง)

ในส่วนของคนที่ยินยอมเข้าฝึกที่ทวีวัฒนา พวกเขาก็ต้องผ่านเงื่อนไขกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลมากมาย เช่นการถูกเรียกมาเฆี่ยนตีถ้าหากทำผิดระเบียบการฝึก นายตำรวจคนหนึ่งที่ต้องพรากจากครอบครัวมาเข้าการฝึกได้เผยกฎงี่เง่าบางข้อให้เราดู มีกฎข้อหนึ่งบอกว่า ถ้าหากครูฝึกพบว่ามีเสื้อผ้าพลเรือนอยู่ในล็อคเกอร์ พวกเขาจะถูกเฆี่ยน 7 ที

แต่ทั้งนี้ สำหรับคนที่ถูกส่งไปทวีวัฒนาไปเพื่อลงโทษ ไม่ใช่การฝึกนั้น สภาพสิ่งที่เขาต้องเจอยิ่งแย่กว่า


การเฆี่ยนตีและคุกคาม

นอกจากการฝึกซ้อมของผู้ที่ถูกเกณฑ์มาฝึกเพื่อเข้ากองมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ในค่ายวังทวีวัฒนาแล้ว ค่ายนี้ยังเป็นสถานที่ลงโทษเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่ทำให้วชิราลงกรณ์หรือลูกน้องคนสนิทของเขาไม่พอใจ ซึ่งก็คือผู้โชคร้ายได้รับ “โบว์สีดำ” นั่นเอง

สาเหตุที่นายทหารที่ได้รับโบว์สีดำถูกส่งไปลงโทษที่ค่ายวังทวีวัฒนามีหลายสาเหตุและไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความฉุนเฉียวของวชิราลงกรณ์เอง

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งถูกสั่งลงโทษในค่ายวังทวีวัฒนาถึงสามเดือน เพราะวชิราลงกรณ์เห็นว่ากระดุมเม็ดหนึ่งของเจ้าหน้าที่คนนั้นหลุด เจ้าหน้าที่อีกคนถูกส่งไปลงโทษและถูกลดยศเพียงเพราะวชิราลงกรณ์ไม่พอใจท่าการทำความเคารพของเขา หรือนายทหารคนหนึ่งถูกส่งไปค่ายนี้แค่เพราะวชิราลงกรณ์เห็นว่าทหารคนนี้หน้าตี๋เกินไป

คำให้การของนายทหารที่ถูกส่งไปลงโทษในค่ายนี้ ยิ่งเผยให้เห็นความโหดร้ายของระบบการลงโทษที่นั่น

ในวันแรกที่ไปถึงค่าย พวกเขาจะถูกคลุมด้วยกระสอบและถูกเตะถูกทุบโดยครูฝึกที่รับหน้าที่ลงโทษโดยเฉพาะ

หลังจากนั้น กิจวัตรประจำวันจะเริ่มต้นขึ้น ทุก ๆ เช้าเวลา 4.45 ผู้ต้องขังในค่ายจะถูกปลุกและเรียกรวมแถวภายใน 5.00 พวกเขาถูกสั่งให้ออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมงก่อนมื้ออาหารเช้า หลังจากนั้นจะถูกเรียกรวมแถวเพื่อตรวจเครื่องแบบตอน 7.00

ไม่ว่าพวกเขาจะมีชั้นยศลำดับไหน เมื่ออยู่ในค่ายในฐานะผู้ถูกลงโทษ พวกเขาจะถูกทารุณรังแกเยี่ยงทหารเกณฑ์ และถูกจับทำโทษในความผิดทุกกระเบียดนิ้วแม้แต่ความบกพร่องเล็ก ๆ บนเครื่องแบบหรือภารกิจในค่ายที่เค้าได้รับมอบหมาย การลงโทษต่าง ๆ อาจยาวนานเป็นชั่วโมง และรูปแบบการลงโทษมีตั้งแต่ให้ลงไปคลานในท่อน้ำทิ้ง แบกไม้ซุงเดินไปจนกว่าจะหมดแรง ไปจนถึงโดนเตะต่อยทุบตีและกระทืบ

นอกจากกิจวัตรการถูกลงโทษในแต่ละวันแล้ว ในเวลาที่เหลือพวกเขาจะถูกฝึกฝนร่างกายอย่างหนักร่วมกับทหารกองมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 พวกเขามีเวลาพักกินข้าวเที่ยงและเย็นเพียงมื้อละชั่วโมง นอกจากเวลากินข้าวแล้ว ในแต่ละชั่วโมงฝึกเขาจะมีเวลาพักไม่เกิน 5 นาที การฝึกดำเนินไปตลอดทั้งวันไปจนถึงกลางคืน สุดท้ายก่อนเข้านอนพวกเขาจะต้องเตรียมขัดเครื่องแบบและรองเท้าของเขาให้พร้อมสำหรับการฝึกในวันถัดไป ซึ่งกิจวัตรก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ไปตลอดการลงโทษ

เนื่องจากวชิราลงกรณ์เป็นคนหมกมุ่นกับสมรรถภาพร่างกาย ทำให้ทหารที่น้ำหนักเกินเกณฑ์เป็นผู้ที่ต้องเจอความลำบากมากกว่าคนอื่นในค่ายวังทวีวัฒนานี้ อาหารในค่ายนั้นมีให้อย่างจำกัดอยู่แล้ว แต่พวกเขากลุ่มนี้ต้องถูกจำกัดอาหารยิ่งไปกว่าเดิมอีก บางคนได้ทานอาหารแค่วันละมื้อ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มน้ำนอกเวลามื้ออาหาร และแม้แต่ในช่วงพัก 5 นาทีในแต่ละชั่วโมง พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้หลบในร่ม ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งพวกเขาถูกบังคับให้ใส่เสื้อผ้าฝึกที่หนาและหนักเป็นพิเศษเพื่อให้มีเหงื่อออกมาก ๆ ซึ่งพวกครูฝึกเข้าใจไปเองว่าจะช่วยให้นักโทษเหล่านี้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้น ผู้ต้องขังบางคนแทบมีภาวะไตวายจากการลงโทษแบบนี้

โดยปกติผู้ต้องโทษไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับใครข้างนอกเมื่ออยู่ในค่ายลงโทษนี้ แน่นอนว่าในบางกรณี ครอบครัวของเขาไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเขาหายไปไหนเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

ครูฝึกในค่ายมีหน้าที่ถ่ายคลิปวีดีโอการลงโทษในทุกวันเพื่อส่งให้วชิราลงกรณ์ดู ซึ่งเขาดูมีความสุขที่ได้เห็นผู้ต้องโทษถูกทุบตีเตะต่อยและกระทืบ

เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนในแต่ละวัน ผู้ต้องโทษถึงจะถูกปล่อยให้ไปพักผ่อนแค่ไม่กี่ชั่วโมงในโรงนอน โรงนอนนั้นที่จริงเคยเป็นโรงเลี้ยงไก่มาก่อน เป็นแค่อาคารชั้นเดียวและหลังคาเตี้ยมาก โรงนอนนี้รู้จักกันในชื่อ “โรงขี้ไก่” เพดานของโรงนอนนั้นต่ำมากจนผู้ต้องขังต้องค่อย ๆ คลานเข้าไปนอน ในโรงนอนนั้นมีส้วมซึมเล็ก ๆ สกปรกอยู่ห้องเดียวและแทบไม่มีพื้นที่ให้ซักล้างใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้นไฟในโรงขี้ไก่นี้จะเปิดไว้ตลอดทั้งคืน

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ต้องขังที่ถูกลงโทษเป็นพิเศษจะถูกแยกออกมาและไม่ให้พักผ่อนตอนเที่ยงคืนแบบผู้ต้องโทษอื่น พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นอนและถูกลงโทษหรือซ่อมตลอดทั้งคืน บางรายบอกว่าเขาถึงกับถูกบังคับให้กินหนอนและดื่มฉี่


โดนลงโทษจนถึงแก่ความตาย

มีเจ้าหน้าที่อย่างน้อยหนึ่งคนเสียชีวิตระหว่างถูกลงโทษที่ค่ายวังทวีวัฒนา

พ.ท.กฤษณพล โภชนดา (บอม) ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 12 รักษาพระองค์ เป็นนายทหารสายกษัตริย์นิยมที่โด่งดังในแวดวงและมักจะรับหน้าที่เป็นนักพูดปลุกใจให้รักสถาบันกษัตริย์แก่นักเรียนนายร้อยหรือนักเรียนมัธยมตามการอบรมต่าง ๆ เสมอ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560 มีเหตุการณ์คนขับแท็กซี่ทะเลาะวิวาทกับทหารสองนายจากกองพันที่หน้าโรงหนังเมเจอร์ซินีเพล็กซ์รังสิต เหตุการณ์นี้มีคนอัดคลิปและแชร์ลงบนโซเชียลมีเดียรวมถึงลงหนังสือพิมพ์ในไทยด้วย

วชิราลงกรณ์รับทราบเหตุการณ์นี้ จนต้องเรียกพ.ท. กฤษณพล โภชนดา กับพ.ท. ธนกฤต ดีสนธิกุล (อิฐ) เข้ามารายงานถึงวังทวีวัฒนาว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น วชิราลงกรณ์หัวเสียมากเพราะเค้าคิดว่าพวกผู้บังคับกองพันเหล่านี้ไม่ควบคุมดูแลทหารในสังกัดของตัวเองให้ดีพอจนทำให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท ลามไปถึงว่าไม่กำชับทหารใต้สังกัดให้แต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบ และเขาสั่งลงโทษผู้บังคับกองพันทั้งสองคนในที่สุด

ระหว่างถูกคุมขัง กฤษณพลมีน้ำหนักหายไปถึง 30 กิโลกรัม เขาถูกคาดโทษและคุกคามทุกวัน แม้แต่โซเชียลมีเดียของเขาก็นิ่งเงียบไปตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายนจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เขาโพสต์เพลง cover ชื่อ “บทเรียน” ของ BOYdPOD ในเฟสบุ๊คของเขา โดยใส่ความเห็นไว้สั้น ๆ ว่า “ฝากบทเพลงนี้ไว้ครับ” 

เมื่อถึงเดือนสิงหาคม แม้บทลงโทษของเขาจะเริ่มโหดร้ายน้อยลงบ้าง แต่ว่าเขายังต้องทำกิจวัตรการฝึกเช่นเดียวกับทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 เหมือนเดิม

ในบ่ายวันที่ 13 สิงหาคม 2560 กฤษณพลได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมการวิ่ง 2 กิโลเมตรในบริเวณค่ายวังทวีวัฒนาร่วมกับนักเรียนนายร้อยเพื่อทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย เขาหมดสติล้มลงในระหว่างการวิ่งนั้นจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ครูฝึกพยายามทำ CPR เพื่อปั๊มหัวใจเขาแต่ว่าเขาก็เสียชีวิตไปก่อนที่รถพยาบาลจะมาถึง ครูฝึกในค่ายวังทวีวัฒนากำชับให้ทหารที่ฝึกคนอื่น ๆ ไม่ปริปากบอกใครเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

งานฌาปนกิจของกฤษณพลจัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เขตบางเขน เขาได้รับการเลื่อนยศหลังเสียชีวิตเป็นพันเอกตามคำสั่งของวชิราลงกรณ์ ผู้ซึ่งกล้าจะส่งพวงหรีดไปร่วมงานฌาปนกิจด้วย


เขตมืด

ถ้าหากคุณคิดว่าการต้องทนกับบทลงโทษทารุณกรรมในโรงขี้ไก่ยังหดหู่ไม่พอ สิ่งเหล่านี้ยังเลวร้ายไม่สู้กับบางพื้นที่ในค่ายวังทวีวัฒนา

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 กระทรวงยุติธรรมได้อนุมัติการสร้างคุกภายในคอมเพล็กซ์วังทวีวัฒนา คุกนี้รู้จักกันในนามคุกชั่วคราวพุทธมณฑล โดยในนามแล้วคุกนี้อยู่ใต้การกำกับดูแลของเรือนจำคลองเปรม แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นคุกที่ควบคุมโดยวชิราลงกรณ์โดยแท้ เขาสามารถนำใครที่ทำให้เขาไม่พอใจมาจองจำและลงโทษก็ได้โดยไม่มีใครรู้เห็นหรือรับผิดชอบใด ๆ

ในปี 2558 สมาชิกฝ่ายกิจการในพระองค์ของวชิราลงกรณ์สามคนได้แก่ พลตรีพิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าองครักษ์ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง โหรชื่อดัง และพันตำรวจตรีปรากรม วารุณประภา เสียชีวิตกระทันหันทั้งสามรายด้วยสาเหตุต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน พวกเขาทั้งสามคนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการเฉลิมพระเกียรติที่กำกับดูแลโดยวชิราลงกรณ์ โดยก่อนที่จะเสียชีวิต ทั้งสามคนถูกโกนหัวและคุมขังที่คุกลับวังทวีวัฒนาหรือคุกชั่วคราวพุทธมณฑลนี่เอง เจ้าหน้าที่อ้างว่าพันตำรวจตรีปรากรมฆ่าตัวตายในคุก ส่วนหมอหยองนั้นป่วยและตายเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด และในส่วนของการเสียชีวิตของพิสิฐศักดิ์นั้นไม่เคยถูกประกาศอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเขาได้รับแจ้งว่าเขาผูกคอตายเองในคุกเช่นกัน

ศพของทั้งสามถูกฌาปนกิจอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการชันสูตรพลิกศพใด ๆ และญาติของผู้เสียชีวิตไม่กล้าติดใจใด ๆ ทั้งสิ้น

ทหารที่ถูกลงโทษในค่ายกักกันและทหารที่ฝึกเพื่อเข้ากองราชวัลลภรักษาพระองค์ไม่เคยรับรู้ใด ๆ เกี่ยวกับผู้คนในคุกลับแห่งนี้ อาคารที่ตั้งของคุกถูกขนานนามโดยพนักงานที่ทำงานในคอมเพล็กซ์นั้นว่าเป็น “เขตมืด” 

สิ่งที่ยังเป็นปริศนาอยู่ในขณะนี้คือเราไม่รู้ว่ามีผู้คนจำนวนเท่าไหร่ที่ถูกกักขังอยู่ในคุกลับทวีวัฒนานั้น เนื่องจากว่าเป็นสถานที่ต้องห้ามเข้าเยี่ยม และแม้แต่หน่วยงานสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนต่างก็ปิดปากเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะเกรงกลัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่โหดเหี้ยมล้าหลัง กฎหมายข้อนี้ทำให้การพูดถึงหรือวิจารณ์การใช้อำนาจโดยมิชอบของสถาบันกษัตริย์กลายเป็นเรื่องต้องห้าม

ที่แย่ไปกว่านั้น รัฐบาลภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชาและรองนายกฯ ประวิตร วงศ์สุวรรณก็ไม่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นที่วังทวีวัฒนา และไม่เคยทำการใด ๆ ที่จะห้ามปรามพฤติกรรมเยี่ยงฆาตกรของวชิราลงกรณ์แม้แต่น้อย เป็นดังเช่นที่พอล แฮนด์ลี่ย์ นักเขียนหนังสือ The King Never Smiles ได้เขียนในบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้ของเขาว่า

หลังจากที่อำมาตย์ไทยในฐานะผู้สืบทอดอำนาจได้รับรองสถานะของเหล่าเผด็จการแล้ว คณะเผด็จการก็ละทิ้งหน้าที่ในการตรวจสอบและจำกัดอำนาจของกษัตริย์องค์ใหม่ไปโดยปริยาย มิหนำซ้ำ พวกเขายังเป็นผู้ร่วมก่อการการลุแก่อำนาจของกษัตริย์ด้วยซ้ำ

หนึ่งในแหล่งข่าวของบทความนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายวังทวีวัฒนาโดยเขาตื่นรู้จากการเห็นความโหดร้ายของวชิราลงกรณ์และอยากสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขาได้พยายามจะจัดการต่อต้านอำนาจของวชิราลงกรณ์จากภายในหน่วยงานของกองทัพเอง แต่โชคร้ายที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของกษัตริย์เริ่มสืบหาตัวเขาได้หลังจากจับตามองการติดต่อผ่านทางออนไลน์ของเขา เขารู้ตัวว่ากำลังถูกจับตามองเลยพยายามจะลี้ภัย เขาได้ติดต่อมาที่ผมระหว่างการหลบหนีจากทางการและเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายครั้งเกี่ยวกับอันตรายที่เขากำลังพบเจอ แต่ว่าไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เงียบหายไปและผมก็ไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากเขาอีกเลย ประโยคหนึ่งที่เขาพูดกับผมผ่านเฟสบุ๊คก่อนที่จะเงียบหายไปคือ

“ผมไม่อยากตายในวังทวีฯ”

23
Share this post

พึงระวังริบบิ้นสีดำ

secretsiam.news
Share
Comments
Top
New
Community

No posts

Ready for more?

© 2023 Andrew MacGregor Marshall
Privacy ∙ Terms ∙ Collection notice
Start WritingGet the app
Substack is the home for great writing