“วัคซีนพระราชทาน” - วัคซีนวังหลวงกับบ่วงกรรมของคนไทยในมหาวิกฤติโควิด
แฉความระยำตำบอนของแผนการจัดการโรคระบาดที่รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนรู้
รัฐไทยใช้มาตรา 112 พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นประมาทปิดปากประชาชนที่ออกมาพูดความจริง ในการประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉินครั้งล่าสุดมีการประกาศราชกิจจาฯ ห้ามเสนอข่าวอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว แม้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นความจริง กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้สื่อรายงานข้อมูลได้อย่างยากลำบาก แต่ไม่ใช่สำหรับผมเพราะผมไม่ได้อยู่เมืองไทย ผมจึงอยากนำเสนอข้อเท็จจริงที่รัฐไทยไม่อยากให้ประชาชนรู้เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่มีส่วนสำคัญในการลากประเทศไทยไปสู่วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจนถึงจุดที่เสี่ยงต่อการเป็นรัฐล้มเหลว
ถ้าหากคุณยินดีสนับสนุนบทความของผม โปรดพิจารณาสมัครสมาชิกแบบจ่ายเงินในราคาเดือนละ160 บาท หรือถูกกว่านั้นหากสมัครแบบรายปีเพื่อสนับสนุนการทำข่าวของผมและค่าจ้างแปลภาษาไทยในระยะยาว การสมัครสมาชิกเพื่อรับจดหมายข่าวจากผมเป็นสิ่งที่คุณทำได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามข้อมูลส่วนตัวของคุณจะถูกเก็บเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนครับ
ขอบพระคุณทุกท่านที่สมัครเป็นสมาชิก ผมหวังว่าคุณจะเพลิดเพลินกับการอ่าน Secret Siam 🙏
I. วัคซีนพระราชทาน
ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวหลังจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ผู้คนล้มตายตามถนน ร่างไร้วิญญาณถูกปล่อยทิ้งไว้หลายชั่วโมงกว่าเจ้าหน้าที่จะมาเก็บเมรุเผาศพถูกใช้งานไม่หยุดหย่อน และมีแห่งหนึ่งที่พังทลายลงเพราะถูกใช้เผาศพมากเกินกำลัง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กนับไม่ถ้วนที่ในปีที่ผ่านมาแทบจะเอาตัวไม่รอดกำลังจะตายลงในไม่กี่สัปดาห์หรือเดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการสั่งล็อคดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้น ประชาชนมากกว่า 1.5 ล้านคนติดกับดักความยากจน และกำลังทะยานเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้เลยที่ไทยจะสามารถเปิดประเทศภายในเดือนตุลาคมตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาสัญญาไว้ในเดือนที่ผ่านมา ภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายนี้สร้างความตระหนกแก่ประชาชนในวงกว้างเพราะไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ได้เลย
แต่สำหรับราชวงศ์ วิกฤติครั้งนี้คือโอกาสอันโอชะเพื่อดึงแสงสปอตไลต์ให้ตนเองอย่างไร้ยางอายด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “การพระราชทาน”
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์โพสท์รูปถ่ายลงในเพจเฟซบุ้ก (แต่ลบออกในภายหลัง) แสดงภาพประชาชนนั่งรอคิวอย่างแออัดเพื่อฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม พร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘วัคซีนพระราชทาน “ซิโนฟาร์ม”’
แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือความรู้สึกอับอายและสิ้นหวังของผู้คนในภาพที่ถูกบังคับให้อยู่ในภาวะน่าสมเพชเวทนาเพียงเพราะต้องการฉีดวัคซีนปกป้องชีวิต
ฟ้าหญิงจุฬาภรใช้อำนาจนอกระบบในการนำเข้าวัคซีนโดยไม่ผ่านการขออนุญาตจากรัฐบาลอ้างอิงพระราชโองการที่เผยแพร่ในตอนค่ำของวันที่ 26 พฤษภาคม ในราชกิจจานุเบกษา ลงนามโดยฟ้าหญิงจุฬาภร มีความว่าพระองค์มอบอำนาจให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษาในอุปถัมภ์ จัดหาวัคซีน ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการป้องกันและรักษาไวรัสโคโรน่า
ประกาศดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจการปกครองประเทศที่แท้จริงอยู่ที่ใคร เพราะเพียงแค่สะบัดปากกาลงนาม สถาบันพระมหากษัตริย์ก็สามารถแสดงอำนาจเหนือนโยบายรัฐบาลและทำสิ่งต่างๆตามใจปรารถนาได้ทันที จุฬาภรไม่แม้แต่จะปรึกษากับคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่แก้เก้อเอาหูไปนาเอาตาไปไร่และยอมรับว่าตนทราบเรื่องนี้พร้อมประชาชน
ความโกรธของประชาชนต่อความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดหาและกระจายวัคซีนทวีคูณยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการของประเทศเพื่อนบ้านที่แซงหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชนไปจำนวนมากแล้ว และผลจากการระบาดระลอกใหญ่จากคลัสเตอร์ไนท์คลับหรูกลางกรุงเทพที่แพร่ไปทั่วประเทศ กล่าวได้ว่าการขยับตัวเดินหมากของจุฬาภรครั้งนี้เป็นการประจานซ้ำเติมความผิดพลาดของรัฐบาล
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า “ข่าวการนำเข้าวัคซีนครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการหยามศักดิ์ศรีรัฐบาลของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ บุตรชายของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการอาเซียน ระบุว่าการเคลื่อนไหวของจุฬาภรครั้งนี้ “สะท้อนให้เห็นความรู้สึกไม่มั่นคงทางอำนาจของสถาบันกษัตริย์และความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤติของรัฐบาลประยุทธ์ในครั้งนี้”
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตใหญ่จากประเทศจีน และจุฬาภรก็ไม่รีรอที่จะประกาศความเอื้อเฟื้อของตน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วคนไทยต้องเสียเงินซื้อวัคซีนจากสถาบันนี้และราชวงศ์ไม่ต้องลงทุนจ่ายเงินสักแดงเดียว
ราคาของวัคซีนซิโนฟาร์มถูกตั้งเป็นจำนวนตัวเลขพิสดาร ซึ่งสะท้อนความเชื่อโหราศาสตร์ของราชวงศ์ ในตอนแรกคนไทยต้องจ่ายเงินซื้อในราคาโดสละ 888 บาท ต่อมาในปัจจุบันวัคซีนบางโดสลดราคาลงเหลือโดสละ 777 บาท
ป้ายแบนเนอร์ขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และศูนย์ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มต่างใช้สโลแกน “วัคซีนพระราชทาน” วางคู่กับภาพของจุฬาภรอย่างชัดเจน ข้อความดังกล่าวกระจ่างในตัวเอง วัคซีนนี้เป็นของขวัญที่เจ้าหญิงมอบให้ประชาชนไทย
เพื่อเป็นการซ้ำเติมความไร้น้ำยาของอนุทิน สำนักพระราชวังจัดพิธีให้นายอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคุกเข่าเข้าเฝ้าเพื่อมอบกล่องซิโนฟาร์มเปล่า ในเชิงสัญลักษณ์ การจัดพิธีครั้งนี้มีนัยยะว่าสถาบันกษัตริย์กำลังปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ เนื่องจากนายอนุทินไม่สามารถจัดหาวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน สถาบันฯจึงเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือประชาชน อีกครั้ง
ตามเทวตำนานความเชื่อเกี่ยวกับราชวงศ์ชั้นสูง จุฬาภรเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก ในช่วงปลายทศวรรษ 1980s ในหลวงภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์ติดต่อสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ให้ช่วยจัดการล็อบบี้มอบรางวัลโนเบลแก่เธอ ในหนังสือ The King Never Smiles พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ระบุว่า “พวกเขาทั้งประหลาดใจและผิดหวังที่ได้รับคำตอบว่ากษัตริย์สวีเดนไม่มีอำนาจทำแบบนั้นได้”
ในความเป็นจริง ไม่มีหลักฐานใดระบุชัดเจนว่าจุฬาภรเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ แต่ชีวิตของเธอมักรายล้อมไปด้วยนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิระดับท็อปของประเทศไทยที่เป็นเจ้าของผลงานที่แท้จริงแฮนด์ลีย์กล่าวถึงการเรียนระดับปริญญาตรีของเธอว่า “งานวิจัยและบทความวิชาการของเธอแท้จริงล้วนเป็นฝีมือของทีมงานนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานรับใช้วัง” การที่เธอเล่นใหญ่ด้วยการแทรกแซงฝ่ายบริหารในการจัดหาวัคซีนครั้งนี้เป็นความตั้งใจแสดงแสนยานุภาพของวังที่อยู่เหนือกว่าความสามารถของรัฐบาล
ในประเทศปกติที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การที่ราชวงศ์แทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัคซีนในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสหรือกรณีใด โดยไม่ปรึกษาหรือร่วมมือกับฝ่ายบริหารถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับประเทศไทย สิ่งนี้กลับเป็นเรื่องปกติ
ฝ่ายรอยัลลิสต์ไม่เคยยอมรับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อให้เจ้าได้กลับมาปกครองอีกครั้ง ยุทธศาสตร์หลักที่ใช้บ่อนเซาะระบอบประชาธิปไตยคือการผลิตซ้ำโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับราชวงศ์ว่าทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาในประเทศ ตรงข้ามกับเหล่านักการเมืองขี้โกงไร้น้ำยาที่เอาแต่สร้างปัญหาและไม่เคยทำอะไรสำเร็จ
นี่เป็นเหตุผลที่ภูมิพลและเหล่าสมาชิกราชวงศ์ต้องแสดงละครฉากใหญ่โดยการเดินทางไปยังหมู่บ้านห่างไกลความเจริญเป็นเวลาหลายทศวรรษ เพื่อให้ได้ภาพกษัตริย์กำลังจดโน้ตในแผนที่และสั่งการเจ้าหน้าที่ การจัดฉากด้วยวิธีการที่ตื้นเขินในลักษณะนี้เป็นความพยายามลดบทบาทและความสำคัญของฝ่ายบริหาร ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนพัฒนาชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างภาพลวงตาว่าภูมิพลใส่ใจและจัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยตนเองเพียงผู้เดียว ในขณะที่รัฐบาลไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน
ทุกครั้งที่ประเทศไทยประสบภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ เราจะเห็นภาพสถาบันกษัตริย์เข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ตามหน้าสื่อมากมาย แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเงินที่ใช้จ่ายในการดำเนินการนั้นมาจากไหน บางส่วนมาจากการขอรับบริจาค แต่ส่วนมากมาจากงบประมาณภาษีประชาชนที่รัฐจัดสรรให้พระมหากษัตริย์ ทว่าทุกครั้งที่มีการเผยแพร่ภาพกษัตริย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชน จะมีการสื่อสารที่ชัดเจนว่าเป็นการพระราชทาน เป็นของขวัญจากกษัตริย์ ที่มาพร้อมกับการลดทอนบทบาทและแทรกแซงอำนาจของฝ่ายบริหาร
ความเชื่อที่ว่าภูมิพลและสมาชิกราชวงศ์ปัจจุบันเป็นผู้สร้างความเจริญแก่ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่ากระแสหลักที่ถูกสอนให้เด็กจำต่อกันมาหลายรุ่นซึ่งทำให้เราเห็นพัฒนาการของประวัติศาสตร์การครองราชย์ของมหากษัตริย์อัจฉริยะ ผู้สร้างและนำพาชาติไปสู่ความเจริญที่แท้จริง ประชาชนคนธรรมดาไม่เคยได้รับเครดิต สถาบันกษัตริย์อ้างเครดิตเป็นของตนทั้งหมด
คนไทยจำนวนมากเชื่อในเรื่องเล่ากระแสหลักที่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นความผิดพลาดเพราะทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องลำบากสู้รบปรบมือกับนักการเมืองขี้โกงไร้น้ำยาเพื่อประคับประคองให้ประเทศดำเนินต่อไปได้ จริงอยู่ที่นักการเมืองจำนวนมากนั้นไร้ความสามารถและทุจริต รวมถึงรัฐบาลปัจจุบันด้วย แต่เรื่องเล่าชุดนี้เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างไร้ยางอาย เป็นเครื่องมือที่ขังคนไทยไว้ในกะลา และกลบฝังประวัติศาสตร์ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม
แทนที่จะได้รับการปฏิบัติเช่นประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกรัฐบาลที่ตนคิดว่ามีประสิทธิภาพ คนไทยกลับถูกสอนว่าเป็นผู้ที่มาพึ่งพิงใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์และต้องรู้สึกซาบซึ้งบุญคุณในทุกสิ่งที่พวกเขาได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศ การบรรเทาทุกข์จากพิบัติภัย หรือแม้แต่การได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยกลับถูกบิดเบือนว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนไทย แต่เป็นของขวัญที่กษัตริย์พระราชทาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักเผยแพร่ว่ารัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติเพื่อมอบประชาธิปไตยให้แก่คนไทย
ความรู้สึกสำนึกบุญคุณที่คนไทยควรแสดงออกถูกนำมาล้อเลียนด้วยอิโมจิ “คุณซาบซึ้ง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ที่ในโลกออนไลน์เริ่มมีการถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างแพร่หลายเมื่อ 15 ปีที่แล้ว อิโมจิเป็นภาพหน้าคนที่มีน้ำตาเอ่อด้วยความปลื้มปีติกับทุกสิ่งที่กษัตริย์ทำให้คนไทย
หลายทศวรรษผ่านมา ฝ่ายวังเรียนรู้ที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สถาบันกษัตริย์และบ่อนเซาะอำนาจการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่า ฝ่ายวังจึงไม่รีรอที่จะคว้าวิกฤติครั้งนี้เพื่อสร้างอำนาจและภาพลักษณ์ให้ตนอีกครั้ง
แต่ปัญหาใหญ่ของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันคือ การที่วชิราลงกรณ์และเหล่าพี่น้องลูกหลานเล่นบท “ผู้ให้” ได้ไม่สมบทบาทแนบเนียนเท่าภูมิพลในการโปรโมตความเชื่อเรื่องการพึ่งพาพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ การพลิกวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิดให้เป็นโอกาสเพื่อหาซีนให้สถาบันกษัตริย์จึงเริ่มต้นอย่างทุลักทุเล และต่อมากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดจนไทยกำลังเสี่ยงต่อการล่มสลาย
II. “พสกนิกรปลาบปลื้มใจ น้ำพระราชหฤทัยในหลวงและพระราชินี”
ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 ไทยประกาศเคสการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าครั้งแรก ผู้ตายเป็นชายอายุ 35 ปี เป็นพนักงานร้านขายสินค้าปลอดภาษีคิงพาวเวอร์ ข่าวนี้เป็นสัญญาณว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าเป็นเรื่องฉุกเฉินระดับโลกและต้องการมาตรการเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาด
กลุ่มคนรักสถาบันออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ว่ากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการจัดการวิกฤติในชาติด้วยการเป็นศูนย์รวมและที่พึ่งทางใจให้แก่ประชาชน แต่ในขณะนั้นวชิราลงกรณ์ไม่แม้แต่จะพำนักอยู่ในประเทศไทย
ในขณะที่คนไทยกำลังเผชิญกับพายุลูกใหญ่ วชิราลงกรณ์อยู่ห่างจากบ้านเกิดไป 5 พันกว่าไมล์ เขาพำนักอยู่ในโรงแรมแกรนด์ ซอนเนินบิเคิล (Grand Hotel Sonnenbichl) สุดหรูในแคว้นบาวาเรีย ล้อมรอบไปด้วยฮาเร็มนางในและมีกิจวัตรคือการขี่จักรยานชมบรรยากาศชนบทแถบเทือกเขาแอลป์ ไร้ความสนใจต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายนอก
วชิราลงกรณ์ย้ายมาพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2550 โดยเดินทางกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราวในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักพระราชวังไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการให้ประชาชนได้ทราบ แต่ต่อมาจนกระทั่งปี 2563 คนไทยรู้เรื่องนี้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเกิดจากการที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รวมถึงตัวผมเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นช่องทางที่รัฐไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้ ในขณะที่สื่อต่างประเทศอย่างหนังสือพิมพ์บิลด์ (BILD) ของเยอรมนีนำเสนอข่าวเผ็ดร้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมแหวกแนวของกษัตริย์ ทำให้การใช้ชีวิตของเขาในบาวาเรียไม่เป็นความลับอีกต่อไป
คนไทยบางส่วนเริ่มแสดงความไม่ชอบใจต่อวชิราลงกรณ์ตั้งแต่ช่วง 2513 เป็นต้นมา แต่ในปี 2563 คนไทยจำนวนมากเกลียดชังเขา โดยเฉพาะจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ตามคำสั่งของวังในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ในทวิตเตอร์และเฟซบุ้ก รวมถึงการประท้วงแบบ “แฟลชม็อบ” นำโดยนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ มีการเขียนป้ายประท้วงล้อเลียนราชวงศ์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
กระแสความไม่พอใจต่อกษัตริย์แผ่ขยายไปทั่วประเทศเมื่อวชิราลงกรณ์ยังคงเพิกเฉยต่อการระบาดของไวรัสโควิดและยังคงพำนักอยู่ในเยอรมนีซึ่งจนถึงปัจจุบันกินเวลายาวนานถึง 13 ปีโดยที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นมาจากภาษีที่ประชาชนไทยจ่ายและถูกจัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ แคว้นบาวาเรียประกาศมาตรการล็อคดาวน์ในวันที่ 20 มีนาคม ส่งผลให้โรงแรมและร้านอาหารต้องปิดให้บริการ ผู้พำนักอาศัยได้รับอนุญาตให้ออกจากที่พักในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น แต่แทนที่จะเดินทางออกมาจากเยอรมนีและกลับมาไทย เหล่าข้าราชบริพารของวชิราลงกรณ์กลับยื่นเอกสารขอพำนักเป็นกรณีพิเศษเพื่ออยู่ต่อในโรงแรมแกรนด์ ซอนเนินบิเคิล ซึ่งต่อมาได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจในบาวาเรียด้วยข้อแม้ว่ากษัตริย์และคณะผู้ติดตามถือเป็น “กลุ่มคน 1 กลุ่มที่เป็นส่วนเดียวกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
อย่างไรก็ตาม คณะผู้ติดตามกลุ่มใหญ่ของวชิราลงกรณ์กลับสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เนื่องจากกษัตริย์และเหล่าข้าราชบริพารไม่ปฏิบัติตามมาตรการการล็อคดาวน์อย่างเคร่งครัด และส่งผลให้ข้าราชบริพารบางส่วนเริ่มติดเชื้อ
เพื่อเป็นการควบคุมการระบาด ผู้ปฏิบัติงานจำนวน 119 คนถูกส่งกลับกรุงเทพฯโดยการบินไทยในวันที่ 22 มีนาคม หลังจากถึงประเทศไทยในวันที่ 23 มีนาคม พวกเขาถูกกักตัวอยู่ในโรงพยาบาลในค่ายทหารหลายแห่งในกรุงเทพฯ ไม่มีใครรายงานทางการเยอรมันว่ามีสมาชิกบางส่วนที่เดินทางกลับประเทศไทยผ่านสนามบินมิวนิคแสดงอาการติดเชื้อโควิค 19 ส่วนวชิราลงกรณ์ยังคงพำนักอยู่ต่อในบาวาเรียกับข้าราชบริพารกลุ่มเล็ก
ในขณะนั้น เริ่มมีข่าวลือรั่วไหลจากแหล่งข่าวระดับสูงที่ไม่พอใจการกระทำของวชิราลงกรณ์ ช่วงปลายเดือนมีนาคม ผมได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของกษัตริย์ตอนที่พำนักอยู่ในโรงแรมแกรนด์ ซอนเนินบิเคิล แหล่งข้อมูลเป็นคนในที่ยืนยันว่ากษัตริย์อยู่ที่นั่นกับฮาเร็มนางใน 20 คนซึ่งล้วนมีนามสกุลเดียวกันคือ สิริวชิรภักดิ์ ฮาเร็มถูกจัดตั้งในลักษณะหน่วยทหารที่วชิราลงกรณ์เรียกว่าหน่วย SAS ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งเพื่อระลึกถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของสหราชอาณาจักร
แหล่งข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าวชิราลงกรณ์กับฮาเร็มนางในจองพื้นที่ชั้น 4 ของโรงแรมทั้งหมด รวมถึงห้องสวีทที่เขาเรียกว่า “ห้องแห่งความสุข” ในขณะที่สุทิดาแยกไปพำนักอยู่ที่โรงแรมวาลเดก(Waldegg) ในเอ็งเงิลแบร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
วชิราลงกรณ์และสุทิดามีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในเดือนเมษายนในวาระวันจักรีและการเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกเทศกาลสงกรานต์เนื่องจากการระบาดของไวรัส ซึ่งท้ายที่สุดในหลวงและพระราชินีเดินทางมาและใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยเดินทางมาถึงในเช้าวันที่ 6 เมษายนและเดินทางกลับทันทีในตอนกลางคืน สัญญาณอันหนึ่งที่บอกว่ามีแรงต้านวชิราลงกรณ์จากภายในวังคือการที่ผมได้รับเอกสารตารางกำหนดการเดินทางที่หลุดออกมาก่อนวันเดินทาง
ในวันที่ 7 เมษายน วชิราลงกรณ์และสุทิดาเดินทางกลับไปถึงยุโรป การกลับมาเยือนไทยในระยะสั้นครั้งนั้นต้องใช้เครื่องบินจากการบินไทย สายการบินประจำชาติที่กำลังจะล้มละลาย เพื่อบินกลับยุโรป 2 เที่ยว เป็นเครื่องโบอิ้ง 777 จากกรุงเทพฯไปซูริคเพื่อส่งคณะผู้ติดตามทั้งหมด ช่างภาพของหนังสือพิมพ์บิลด์ถูกตำรวจสวิสจับใส่กุญแจมือ ณ สนามบินซูริคเนื่องจากเขาถ่ายภาพการเดินทางมาถึงของคณะเดินทางในที่สาธารณะ
แม้ว่าในหลวงกับพระราชินีจะใช้เวลาอยู่ในไทยน้อยมาก ทางวังก็ไม่ละความพยายามที่จะสร้างข่าวว่าราชวงศ์ทำงานหนักและบริจาคเงินมหาศาลเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ
ถุงยังชีพที่มีตัวหนังสือใหญ่สีขาวเขียนว่า “พระราชทาน” ถูกนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านในชุมชนแออัดทั่วเขตกรุงเทพฯโดยกลุ่ม “จิตอาสา” ผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ มีการแจ้งให้ชาวบ้านวางโต๊ะหรือเก้าอี้ไว้หน้าที่พักเพราะถุงเหล่านี้ที่ภายในบรรจุข้าวสารหยิบมือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสบู่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องไม่วางบนพื้น นอกจากนั้นชาวบ้านยังถูกสั่งให้โพสท์ท่าถ่ายภาพรับถุงยังชีพกับภาพถ่ายของกษัตริย์
แท้จริงแล้ว งบประมาณที่ใช้ในการจัดสรรถุงยังชีพเหล่านี้มาจากเงินภาษีของประชาชน ตราประทับของวังเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ มีการปล่อยภาพวิดีโอหลุดเป็นเหตุการณ์ที่มาลินี วันทอง ผู้สื่อข่าวพระราชสำนักประจำช่อง 3 ชี้ชวนให้ตายายคู่หนึ่งถือภาพถ่ายในหลวงและแสดงความรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัย
ช่วงปลายเดือนเมษายน สำนักพระราชวังเผยแพร่วิดีโอเฉลิมพระเกียรติแสดงความใจบุญสุนทานของสถาบันกษัตริย์ วิดีโอมีชื่อว่า “พสกนิกรปลาบปลื้มใจ น้ำพระราชหฤทัยในหลวงและพระราชินี” เนื้อหามุ่งแสดงภาพประชาชนที่ได้รับของพระราชทานและแสดงความรู้สึกปลาบปลื้มยินดีซาบซึ้งต่อน้ำพระราชหฤทัย แต่ในความเป็นจริงพวกเขาดูหวาดกลัวและไม่พอใจมากกว่ารู้สึกปลื้มปีติ ความปลอมของการจัดทำวิดีโอนี้เรียกว่าอยู่ในระดับเดียวกับโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือที่แสดงถึงการปฏิเสธความจริง
คำบรรยายเขียนว่า:
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีทรงพระราชทานถุงยังชีพในเขตเมืองหลวงให้กับประชาชนที่กำลังเผชิญความทุกข์ยากจากการระบาดของไวรัสโควิด 19
แน่นอนว่า วชิราลงกรณ์และสุทิดาไม่ได้ทำการแจกจ่ายสิ่งของเหล่านั้นด้วยตนเอง เพราะพวกเขาอยู่ในโรงแรมหรูอีกฟากหนึ่งของโลก ในวิดีโอชายคนหนึ่งพูดแสดงความชื่นชมในหลวงขณะที่ตนมีอาการสั่นจากความผิดปกติของร่างกายว่า “พระองค์ท่านไม่เคยลืมประชาชนครับ” แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าวชิราลงกรณ์ไม่เคยสนใจไยดีความเป็นอยู่ของประชาชน และไม่คิดที่จะกลับมาพำนักอยู่ในประเทศไทยที่กำลังเผชิญภาวะการระบาดอย่างหนัก
นอกจากนั้น ข่าวในพระราชสำนักนำเสนอข่าวการพระราชทานบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอ็กซเรย์แบบพกพา รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เป็นประจำ ประชาชนต่างตั้งข้อสงสัยว่าเงินเหล่านั้นมีที่มาจากไหน เป็นเงินที่ราชวงศ์บริจาคสมทบให้กับรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หรือเป็นเงินสำรองที่จะนำมาใช้ยามขาดแคลน การเคลื่อนไหวนี้ไม่ต่างจากตอนที่ภูมิพลเดินทางไปยังชนบทห่างไกลในแง่ที่ไม่มีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจนว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยแก้ไขวิกฤติอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ในส่วนของลูกสาว เจ้าหญิงสิริวัณณวรี ก็ตามรอยพ่อในการหาผลประโยชน์จากวิกฤติการระบาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์และโฆษณาแบรนด์เสื้อผ้าของตนเอง โดยพยายามเลียนแบบแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์สัญชาติฝรั่งเศสอย่างหลุยส์ วิตตอง (LVMH) ที่ปรับโรงงานผลิตน้ำหอม 3 แห่งให้เป็นโรงงานผลิตเจลล้างมือตอนที่ไวรัสระบาดทั่วยุโรป เจ้าหญิงออกมาประกาศว่าแบรนด์ของเธอนั้นจะผลิตเจลล้างมือเช่นกัน
แต่สิ่งที่แตกต่างจากหลุยส์ วิตตองคือการที่สิริวัณณวรีไม่มีโรงงานน้ำหอมเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงไปสั่งเภสัชกรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้ผลิตเจลล้างมือ และตนเองเพียงแค่อนุญาตให้นำชื่อแบรนด์ Sirivannavari ไปติดบนขวดเพื่อเอาหน้า ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์การตลาดจำแลงทั้งสิ้น
เพื่อตอกย้ำความไม่ใส่ใจกับวิกฤติที่เกิดขึ้น สิริวัณณวรีเปิดตัวเจลล้างมือด้วยการปล่อยภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพเธอสวมเสื้อกาวน์แพทย์ถ่ายคู่กับน้ำหอม สุนัขพันธุ์ยอร์คเชียร์ เทอร์เรียตัวโปรดที่ใส่หมวกพยาบาล
ในขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศแฉพฤติกรรมที่น่าอับอายของราชวงศ์ ดอยเชอะเวลเลอะ (DeutscheWelle) สถานีข่าวนานาชาติของเยอรมนีสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “กษัตริย์ไทยกักตัวอย่างหรูหราในขณะที่ประชาชนในชาติกำลังทุกข์ทรมาน”
วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบแต่งงาน 1 ปีของวชิราลงกรณ์และสุทิดาซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 4 และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ภาพถ่ายของทั้งคู่ที่ใส่เสื้อผ้าคู่และกำลังเดินชมแผนโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณ กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
มีภาพของวชิราลงกรณ์นั่งดูสุทิดากำลังนั่งเย็บหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นภาพที่มุ่งสร้างความเข้าใจว่าในหลวงและพระราชินีอยู่ประเทศไทยและทรงงานอย่างหนักเพื่อช่วยให้คนไทยต่อสู้กับการระบาดของไวรัสตลอดมา
ทั้งที่ในความเป็นจริง ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยรวมทั้งหมดน้อยกว่า 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่ต้นปี 2564 และภาพถ่ายชุดดังกล่าวคือการจัดฉากถ่ายไว้อย่างเร่งรีบตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ซึ่งจะเห็นได้จากการบันทึกเวลาในลิงก์ URL ของภาพที่สำนักพระราชวังลืมลบออก
วชิราลงกรณ์มีกำหนดกลับกรุงเทพฯเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 1 ปีระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม และอยู่จนถึงวันที่ 7 และ 11 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชาและวันพืชมงคลตามลำดับ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ การเดินทางจึงถูกยกเลิก
วันที่ 20 พฤษภาคม ในวังจัดงานพิธีแปลกประหลาด ที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมคือ ประยุทธ์ อภิรักษ์ คงสมพงษ์ (ผบ.ทบ.) จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผบ.ตร.) และทีมรัฐบาลที่ทำงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการการระบาดของโควิด ทั้งหมดถูกเรียกให้เข้าเฝ้าเพื่อรับหน้ากากผ้าฝีมือการเย็บของสุทิดาที่ทำไว้ในเดือนเมษายนคนละ 1 ชิ้น ภาพแสดงผู้เข้าร่วมพิธีรับหน้ากากด้วยความเคารพสูงสุดประหนึ่งว่ากำลังรับวัตถุศักดิ์สิทธิ์
4 วันต่อมา วชิราลงกรณ์ก็ออกไปขี่จักรยานในเขตบาวาเรียพร้อมคณะผู้ติดตามประมาณ 20 คน รวมถึงนางในฮาเร็มหลวงหนึ่งคน และสุนัขพูเดิลสีขาวหนึ่งตัว ภาพวิดีโอคณะจักรยานสุดแปลกตานี้ถูกถ่ายโดยคนที่อยู่ข้างทางและส่งวิดีโอให้หนังสือพิมพ์บิลด์ วิดีโอนี้นำเสนอความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตของกษัตริย์ไทยในเยอรมนีที่กำลังปั่นจักรยานรอบชนบทในบาวาเรียด้วยชุดเปลือยครึ่งท่อนกับนางในของเขา ช่างห่างไกลจากภาพทรงงานหนักอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อช่วยให้ไทยต่อสู้กับการระบาดของไวรัส
ในปี 2563 ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดีจนได้รับคำชมจากนานาประเทศว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าความพยายามของเจ้าในการโปรโมตตัวเองนั้นล้มเหลว สิ่งที่ทุกคนเห็นชัดเจนคือความจริงที่ว่าวชิราลงกรณ์นั้นเลือกที่จะไม่อยู่ไทย ไม่สนใจ และผลาญเงินภาษีประชาชนในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังเผชิญกับภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการล่มสลายของธุรกิจท่องเที่ยว
ความต่างแบบสุดโต่งระหว่างไลฟ์สไตล์หรูหราต่างประเทศกับความทุกข์ยากที่ประชาชนกำลังเผชิญกลายเป็นเชื้อไฟจุดความโกรธของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ให้เพิ่มมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์การอุ้มหายและฆาตกรรมวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ในกัมพูชา นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในการประท้วงครั้งใหญ่ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน การหายตัวไปจากไทยของวชิราลงกรณ์ถูกนำมาล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์ ชูเกียรติ แสงวงค์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมที่ใส่เสื้อครอปท็อปและผ้าคาดหัวลายธงชาติเยอรมัน เพื่อตอกย้ำว่ากษัตริย์ยังคงพักผ่อนอย่างสุขสบายอยู่ที่บาวาเรียและเลียนแบบสไตล์การแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของกษัตริย์ที่มักจะปรากฏตัวในที่สาธารณะในเยอรมนีด้วยการเปลือยครึ่งท่อนหลายครั้ง
ในเดือนกันยายน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่าเหตุใดประเทศไทยยังต้องจัดสรรงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์ไปผลาญเล่นเป็นจำนวนมากในขณะที่เศรษฐกิจในชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ
กระแสความเสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการประพฤติตัวของกษัตริย์เองในภาวะที่ทั้งโลกกำลังเดือดร้อน
แต่เบื้องหลังกระแสดังกล่าว มีข่าวลือว่าราชวงศ์และรัฐบาลกำลังร่วมมือกันกอบกู้ชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์
III. วัคซีนพระราชทาน
สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงกับความสามารถของสถาบันกษัตริย์ โดยเชื่อว่าหากทำได้ จะเป็นการเพิ่มเรตติ้งให้แก่สถาบันกษัตริย์อย่างยิ่งยวด เป็นประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะบทใหม่ของตำนานมหากษัตริย์อัจฉริยะกู้ชาติในช่วงเวลาวิกฤติ
ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ไทยที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้รวดเร็วเพื่อมาแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า แต่สิ่งที่ประเทศไทยคาดหวังมากที่สุดคือเป็นผู้ผลิตวัคซีนภายใต้ใบอนุญาตของบริษัทชั้นนำ เพื่อหาวิธีรีแบรนด์ให้สถาบันกษัตริย์
ในปี 2563 บริษัทยาชั้นนำต่างเร่งแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและในขณะเดียวกันก็วางแผนล่วงหน้าในการผลิตระดับอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการวัคซีนของประชากรทั้งโลก ในช่วงต้นปี 2563 แอสตร้าเซนเนก้าเริ่มมองหาฮับการผลิตในต่างประเทศเพื่อผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนมากและรวดเร็วเมื่อวัคซีนพัฒนาสำเร็จ
ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่จะเป็นฮับการผลิตในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมากและระบบการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตร้าเซนเนก้าเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
คู่ค้าที่ควรจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยคือ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมมาหลายทศวรรษและมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่จะผลิตวัคซีนเพื่อต่อสู้กับการระบาดครั้งนี้
หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์การจัดการโรคระบาดในไทย พบว่าในปี 2552 ไทยเคยพยายามผลิตวัคซีนในช่วงการระบาดของไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกประมาณ 300,000 คน รัฐบาลตอนนั้นตัดสินใจเลือกพัฒนาการผลิตวัคซีนในประเทศผ่านการจัดการขององค์การเภสัชกรรม มีการสร้างโรงงานเป็นฐานการผลิตในจังหวัดสระบุรีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดที่เกิดขึ้นทั้งในแต่ละฤดูและในระดับโลกซึ่งเป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรม มีการตกลงเซ็นสัญญาระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และบริษัท แชริง เพลา (Schering-Plough) สัญชาติสหรัฐฯซึ่งได้ส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตมาให้
โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในจังหวัดสระบุรีเผชิญอุปสรรคจากความล่าช้านับครั้งไม่ถ้วนและการใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟักของไทยก็แตกต่างจากเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาก แต่โครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่สระบุรีก็มีอยู่แล้วและพร้อมที่จะถูกปรับให้เข้ากับการผลิตแบบใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด ด้วยการช่วยเหลือจากแอสตร้าเซนเนก้าที่จะส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตให้ วิธีนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดหากไทยต้องการจะผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมให้ได้เร็วที่สุดเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม วังได้กดดันให้รัฐบาลเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าเป็นตัวแทนการผลิต ซึ่งก่อตั้งในปี 2552 ในรัชสมัยของในหลวงภูมิพล สยามไบโอไซเอนซ์เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจจำนวนมากของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่มีอิทธิพลมากกับเศรษฐกิจไทย
ธุรกิจหลักของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มี 2 อย่างคือ ปูนซีเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ นอกเหนือไปจากการถือครองที่ดินมหาศาล การถือหุ้นและธุรกิจขนาดเล็กอีกมากมาย ในช่วงที่ภูมิพลยังมีชีวิตอยู่ วังสามารถปิดบังบทบาทที่แท้จริงของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ว่าเป็นของชาติไทย ซึ่งต่อมาพบว่าไม่เป็นความจริง ในปี 2561 วชิราลงกรณ์ก็ประกาศแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สยามไบโอไซเอนซ์ไม่มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนมาก่อน เพราะเดิมบริษัทเน้นผลิตยา 2 ตัวและผลิตในปริมาณน้อย หนึ่งคือยาอีริโทรโพอิติน ใช้รักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง อีกตัวคือยาฟิลกราสทิม สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ทำเคมีบำบัด คนไทยไม่เคยได้ยินชื่อบริษัทนี้มาก่อนจนกระทั่งปี 2563
แต่บริษัทนี้ก็มีข้อดีหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดในการเพิ่มเรตติ้งให้สถาบันกษัตริย์เพราะมีกษัตริย์เป็นเจ้าของบริษัท ก่อตั้งมาในสมัยภูมิพลโดยอ้างว่าตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยการผลิตยาเองในประเทศ พนักงานส่วนใหญ่ก็เป็นรอยัลลิสต์ จดหมายข่าวของบริษัทฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในเดือนกันยายน 2562 แสดงภาพพนักงานบริษัทออกไปทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ชายหาด ทั้งหมดใส่เครื่องแบบ “จิตอาสา” แบบพวกรักเจ้า
แนวคิดที่จะให้สยามไบโอไซเอนซ์สร้างภาพลักษณ์เชิงบวกแก่สถาบันกษัตริย์ในช่วงการระบาดของไวรัสเริ่มชัดเจนในช่วงต้นปี 2563 บริษัทได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ในการผลิตชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าแบบ RT-PCR และส่งล็อตแรกจำนวน 20,000 ชุดให้แก่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 16เมษายน
ในการเตรียมพร้อมสร้างโฆษณาชวนเชื่อครั้งใหญ่ นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ “มาดามแป้ง” เซเลปรอยัลลิสต์ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร” และเริ่มออกมาให้ข่าวในฐานะตัวแทนของสยามไบโอไซเอนซ์ มาดามแป้งที่บางกอกโพสท์ (Bangkok Post) ชมว่า “มีเสน่ห์เหลือล้น”เป็นสมาชิกตระกูลล่ำซำที่ร่ำรวยเป็นอันดับต้นของไทยซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยในปี 2488 มาดามแป้งโปรโมตตัวเองจนโด่งดังจนมีผู้ติดตามมากกว่า 1.4 ล้านคนในเฟซบุ้กและครึ่งล้านในอินสตาแกรม ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนหลักและผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยมาหลายปี
นวลพรรณมีความสนิทสนมกับสิริวัณณวรีและมักจะคุกเข่าถ่ายรูปคู่กับเจ้าหญิงเสมอแม้อยู่ในต่างประเทศซึ่งสร้างความงุนงงให้แก่ชาวต่างชาติ สามีของเธอ ณรัชต์ เศวตนันทน์ สนิทสนมกับวชิราลงกรณ์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการพระราชวังหลังจากเกษียณราชการจากตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในเดือนกันยายน 2563
รัฐบาลไม่ปฏิเสธการกดดันจากวังและบ้าจี้ตั้งสยามไบโอไซเอนซ์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในการจัดหาวัคซีน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าประยุทธ์ก็เป็นรอยัลลิสต์และหวาดกลัวอำนาจของวชิราลงกรณ์จึงต้องคอยพินอบพิเทากษัตริย์อยู่ตลอดเวลาด้วยความเชื่อว่าต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์ไม่ว่าจะแลกด้วยสิ่งใดก็ตาม อนุทินก็เป็นอีกคนที่พยายามเข้าไปสนิทสนมกับวชิราลงกรณ์มาเป็นเวลานานบันทึกลับทางการฑูตสหรัฐฯที่เปิดเผยเครือข่ายวงในของวชิราลงกรณ์ระบุว่า “คนสนิทและผู้สนับสนุนทางการเงินคนใหม่คือนักการเมืองไทยรักไทยที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง อนุทิน ชาญวีรกูล” อนุทินพบปะวชิราลงกรณ์ในเยอรมนีบ่อยครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะเพื่อนช้อปปิ้งทั่วยุโรป
ทั้งประยุทธ์และอนุทินจึงตอบตกลงทันทีเมื่อวังเสนอว่าให้ใช้สยามไบโอไซเอนซ์แทนองค์การเภสัชกรรมในการเป็นคู่ค้าผลิตแอสตร้าเซนเนก้า และเป็นกลยุทธ์หลักของรัฐบาลในการจัดการวัคซีนในปี 2563
รัฐบาลไม่แม้แต่จะวิเคราะห์หรือใส่ใจรายละเอียดว่าประเทศไทยจะได้วัคซีนกี่โดสและได้เร็วที่สุดเมื่อไรเพราะมัวแต่หลงยินดีว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการควบคุมไวรัสที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากนานาชาติ มีการปล่อยเกียร์ว่างให้เวลาผ่านไปนานจนน่าประหลาดกว่าจะเริ่มจริงจังเรื่องการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับคนไทยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และมัวแต่ลงแรงไปกับการจัดการให้แอสตร้าเซนเนก้าเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นคู่ค้าของฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สำเร็จ
แอสตร้าเซนเนก้าทำการตรวจสอบเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 โดยมุ่งตรวจสอบมาตรการป้องกันการติดสินบนและคอรัปชั่น ระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสำหรับห่วงโซ่อุปทาน การปกป้องสิทธิมนุษยชน และสถานะทางการเงิน แต่ก็เป็นไปอย่างเร่งรีบโดยเฉพาะการประเมินความสามารถในการผลิตและขาดความรอบคอบในการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจในการร่วมมือกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การดูแลของกษัตริย์ไทย
ในช่วงครึ่งท้ายของปี 2563 การเจรจาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในวันที่ 7 กันยายน อนุทินและคณะทำงานจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าพบตัวแทนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่กรุงเทพฯเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย มีการเผยแพร่จดหมายที่นายสจอร์ด ฮับเบน (Sjoerd Hubben) รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลกของแอสตร้าเซเนก้าส่งถึงอนุทินว่าในระหว่างการเข้าพบคณะทำงานชาวไทยดูผ่อนคลายมากในเรื่องการกำหนดจำนวนโดสที่ต้องการ ระบุว่า “สาธารณสุขไทยต้องการวัคซีนประมาณสามล้านโดสต่อเดือน”
นอกจากนั้นยังมีจดหมายจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ระบุว่าไทยควรเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) GAVI และ UNICEF เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ระดับกลางถึงต่ำในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่า
ในเดือนต่อมา วันที่ 12 ตุลาคม มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการที่กระทรวงสาธารณสุขระหว่างรัฐบาลไทย แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซเอนซ์ และปูนซีเมนต์ไทยในการร่วมมือกันสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย ถูกดึงเข้ามาในความร่วมมือเพราะสยามไบโอไซเอนซ์ไม่เพียงขาดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตที่ใหญ่มากพอ จึงต้องมีการสร้างใหม่ทั้งหมด รัฐบาลเป็นผู้ให้งบประมาณ 600 ล้านบาทในการสร้างโรงงานใหม่ในขณะที่ปูนซีเมนต์ไทยลงทุน 100 ล้านบาท
อนุทินลงนามในเอกสารในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย และ สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ผู้เป็นมือขวาของวชิราลงกรณ์ลงนามในฐานะตัวแทนสยามไบโอไซเอนซ์ สถิตย์พงษ์เป็นนายพลในสังกัดกองทัพอากาศซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาธิการส่วนพระองค์ของวชิราลงกรณ์ตั้งแต่ 2548 และกลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาวงในของกษัตริย์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการในพระราชวังในปี 2560 และประธานคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี 2561 มีหน้าที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับการเงินโดยรวมของวชิราลงกรณ์และพระราชวัง น้องชายของเขา ต่อศักดิ์ สุขวิมล เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และต่อมาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สองพี่น้องนี้มีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงการเลื่อนตำแหน่งในองค์กรตำรวจอย่างเป็นระบบ
ที่จริงแล้ว สถิตย์พงษ์สามารถลงนามในเอกสารในฐานะตัวแทนของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้ เพราะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ รวมถึงบริษัทในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อื่นๆ เช่น เทเวศประกันภัย สยามสินธร ดอยคำ เป็นต้น แต่ปูนซีเมนต์ไทยเลือก รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทมาเป็นตัวแทน นายเจมส์ ทีก (James Teague) ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามที่สถานทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรในลอนดอน
ในภาพ อนุทิน สถิตย์พงษ์ และรุ่งโรจน์ล้วนผูกเนคไทสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่สื่อถึงกษัตริย์
IV. ‘ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้ “เจ้า”’
รัฐไทยมีความปลื้มปีติอย่างมากที่สามารถเซ็นสัญญาเป็นคู่ค้ากับแอสตร้าเซนเนก้าได้สำเร็จ หลังจากนั้นรัฐบาลก็ปล่อยเกียร์ว่าง ไม่คิดวางแผนอย่างจริงจังที่จะจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุด
ยังไม่มีการสรุปสัญญาซื้อขายแอสตร้าเซนเนก้าจนกระทั่งวันที่ 27 พฤศจิกายน และประเทศไทยสั่งซื้อเพียง 26 ล้านโดส พอต่อการฉีดให้ประชากรเพียง 13 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การตัดสินใจที่ไร้เหตุผลนี้เกิดจากความหลงพอใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ความโง่เง่า และความตั้งใจที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุด
แต่เดิม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับซื้อวัคซีนในปี 2564 เพียง 6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยอย่างน่าใจหายสำหรับประเทศที่จัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงจำนวน 223,400 ล้านบาทโดยรัฐบาลวางแผนว่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนเพิ่มจำนวน 66 ล้านโดสในปี 2565 เพราะเชื่อว่าราคาวัคซีนจะถูกลง และจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนไทยได้ถึงร้อยละ 70 ของประชากรภายในปี 2565 การระบาดของไวรัสเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติในปัจจุบันที่น่ากลัวกว่าสงครามหรือการคุกคามทางการทหาร การที่รัฐบาลเลือกจ่ายเงินเพียงน้อยนิดในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสครั้งนี้เป็นความผิดพลาดที่ให้อภัยไม่ได้
รัฐบาลนิ่งนอนใจเพราะคิดว่าสามารถควบคุมไวรัสโคโรน่าได้แล้วและไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไร้ซึ่งความเข้าใจว่าวิธีเดียวที่จะเปิดประเทศแก่นักท่องเที่ยวและกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังพังให้กลับมาได้คือการฉีดวัคซีนให้คนไทยให้ได้มากที่สุดจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การปิดประเทศในระยะยาวจะทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหวและทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลางจำนวนมากล้มละลาย
การยืนยันแทงม้าตัวเดียวโดยการพึ่งพาวัคซีนจากวังหลวงนำไปสู่ผลกระทบอื่นที่สร้างหายนะตามมา รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นหนึ่งในเพียงเจ็ดประเทศที่ปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและเบลารุส รัฐบาลไทยเลือกนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดสเพราะอยากจะเอาใจประเทศจีนแต่ไม่ยอมรับการบริจาควัคซีนจากประเทศอินเดีย
เรื่องเล่าที่ฝ่ายรอยัลลิสต์พยายามจะปั้นขึ้นคือการที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพึ่งพาตัวเองซึ่งมีฐานมาจากมหากษัตริย์อัจฉริยะอย่างภูมิพลและความตั้งมั่นของวชิราลงกรณ์ที่ทำให้ไทยสามารถเอาชนะไวรัสโคโรน่าได้ การยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้นไม่เข้ากับเรื่องเล่าการสร้างชาติชุดนี้เพราะไม่ให้เครดิตกับสถาบันกษัตริย์ แต่ให้เครเดิตกับชาวต่างชาติแทน ฝ่ายรอยัลลิสต์ไม่ต้องการเรื่องเล่าที่ขัดกับความเชื่อนี้ ดังนั้นประเทศไทยจึงตัดสินใจลุยเดี่ยว
การแทงม้าตัวเดียวและการเลือกนำเข้าเฉพาะซิโนแวคในจำนวนไม่มากเป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างมหันต์ ประเทศอื่นทั่วโลกล้วนมุ่งนำเข้าวัคซีนหลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยงที่วัคซีนบางตัวจะไม่มีประสิทธิภาพหรือเป็นอันตราย แต่ประเทศไทยเลือกลงเงินแทงข้างแอสตร้าเซเนก้าแบบทุ่มสุดตัว
เนื่องจากต้องเนรมิตทุกอย่างใหม่ทั้งหมดอย่างเร่งรีบเพื่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ และบวกกับเวลาในการส่งมอบเทคโนโลยี การเริ่มผลิตแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศจึงเพิ่งเริ่มในช่วงกลางปี 2564 จนถึงเวลานั้น คนไทยส่วนใหญ่ก็เหมือนถูกทิ้งไว้กลางสงครามโดยปราศจากอาวุธที่จะต่อสู้กับไวรัส
การเลือกโปรโมตภาพลักษณ์ของเจ้ามากกว่าเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่หายนะซึ่งกำลังทำให้ประเทศไทยยืนอยู่บนขอบเหว
ในเดือนธันวาคม 2563 แผนของรัฐบาลก็ไปสู่จุดที่ควบคุมไม่ได้
ในวันที่ 17 ธันวาคม แม่ค้าขายกุ้งที่ตลาดขายของทะเลมหาชัยวัย 67 ปีติดเชื้อโควิด 19 วันต่อมามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4 คน ไม่กี่วันต่อมาจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานไปสู่หลักร้อย รัฐไทยไม่รีรอที่จะหาแพะรับบาปที่เป็นชาวต่างชาติโดยการกล่าวหาว่าแรงงานผิดกฎหมายชาวเมียนมาเป็นผู้นำเชื้อไวรัสเข้ามาแพร่ในตลาด แรงงานเหล่านี้ถูกสั่งให้กักตัวอยู่ในที่พักแออัดซึ่งถูกล้อมรอบด้วยลวดหนามกันไม่ให้พวกเขาออกมาข้างนอก
แต่เชื้อไวรัสก็ได้แพร่จากจังหวัดสมุทรสาครไปสู่จังหวัดอื่นในประเทศไทยแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่วิกฤติที่สุดตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสนี้ นอกจากนั้นยังพบคลัสเตอร์การระบาดจากบ่อนพนันเถื่อนที่มีตำรวจและทหารเป็นผู้ดูแล ซึ่งประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมากล่าวแบบทีเล่นทีจริงว่ากรุงเทพฯไม่มีบ่อนการพนันผิดกฎหมาย
การระบาดระลอกใหญ่ครั้งที่สองตามมาในวันที่ 29 มกราคม 2564 เมื่อมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวน1,732 ราย ครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าความสำเร็จของไทยในการควบคุมเชื้อไวรัสในปีที่ผ่านมาเป็นเพียงความโชคดีมากกว่าการกำหนดนโนบายที่มีประสิทธิภาพ
การระบาดระลอกสองทำให้รัฐบาลเริ่มตระหนักว่าการสั่งวัคซีน 26 ล้านโดสนั้นไม่เพียงพอ ในวันที่ 5 มกราคม ประยุทธ์ประกาศว่าไทยสั่งแอสต้าเซนเนก้าเพิ่ม 35 ล้านโดส ทำให้ยอดรวมการสั่งวัคซีนสำหรับใช้ในปี 2564 ทั้งหมดเท่ากับ 63 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านและซิโนแวค 2 ล้าน ซึ่งเพียงพอสำหรับฉีดให้ประชากรประมาณร้อยละ 45 จากทั้งหมด
แต่เรื่องนี้เป็นข่าวปลอม จริงอยู่ที่รัฐบาลติดต่อแอสตร้าเซนเนก้าในเดือนมกราคม 2564 เพื่อขอซื้อวัคซีนเพิ่มจำนวน 35 ล้านโดส แต่ ณ ตอนนั้นบริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อขายกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน บรูไน และมัลดีฟส์เรียบร้อยแล้ว สยามไบโอไซเอนซ์ไม่มีกำลังการผลิตมากพอที่จะผลิตวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดสให้ทันปลายปี 2564 นอกเหนือไปจากที่ได้ตกลงเซ็นสัญญาไว้แล้ว คนไทยพลาดโอกาสอย่างน่าเจ็บใจในการจะได้วัคซีนครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้าพยายามจะหาทางประนีประนอมเพราะไม่อยากมีความขัดแย้งกับรัฐบาลของประเทศที่บริษัทจะเข้าไปตั้งฮับการผลิตสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็มีการตกลงสั่งซื้อในเดือนพฤษภาคม แต่ไม่ระบุเงื่อนไขเวลาในการส่งมอบวัคซีน ประเทศไทยจะได้รับวัคซีน 35 ล้านโดสจริงแต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้ภายในปี 2564 หรือไม่
ประยุทธ์และอนุทินเล่นละคอนตบตาคนไทยมาตลอดเวลาระหว่างต้นเดือนมกราคม 2564 ที่เริ่มออกมาประกาศว่าได้สั่งซื้อวัคซีนเพิ่มแล้ว 35 ล้านโดส จนถึงเดือนพฤษภาคมที่แอสตร้าเซนเนก้าได้ตอบตกลง มีการปล่อยภาพจดหมายที่มีเนื้อหาแสดงว่าแอสตร้าเซนเนก้าได้แสดงรายชื่อประเทศที่สั่งวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์และช่วงเวลาที่จะส่งมอบวัคซีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องต่อคิวรั้งท้ายประเทศเหล่านี้
ตัวแทนรัฐบาลกล่าวอ้างถึงข้อมูลที่ไม่ตรงตามความจริงว่าวัคซีนทั้งหมดจะพร้อมส่งมอบภายในปี2564 ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้มีการตอบตกลงและระบุเอาไว้ในสัญญาที่ลงนามกับไทย ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิตมากเพียงใดเพราะการเป็นโรงงานที่เพิ่งสร้างใหม่และยังไม่เคยผลิตมาก่อน ทำให้คาดเดาได้ยาก ตามที่นายปาสกาล ซอริโอ (Pascal Soriot) ซีอีโอของแอสตร้าเซนเนก้าอธิบายไว้ในการสัมภาษณ์ในเดือนมกราคมว่า
ปีที่ผ่านมาเรายังไม่มีวัคซีน และพอมันเป็นสิ่งใหม่ ก็เป็นธรรมดาที่เราจะเจอปัญหาขลุกขลัก มีปัญหาเพิ่มกำลังการผลิต ดังนั้นจำนวนที่ผลิตอาจจะผันผวนอยู่ระหว่าง 1 ถึง 3 ในเพดานการผลิตที่ 3 เท่า
หมายความว่ากำลังการผลิตของโรงงานใหม่จะไม่สม่ำเสมอเท่ากันตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้น บางโรงงานอาจจะผลิตวัคซีนได้จำนวนมากกว่าโรงงานอื่นถึง 3 เท่า ทำให้คาดการณ์ได้ลำบาก
การระบาดระลอกสองปลุกประเทศไทยให้ตื่นจากความฝันว่าประสบความสำเร็จในการจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด19ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดในการวางนโยบายของรัฐบาล ในไลฟ์สดผ่านเฟซบุ้กวันที่18มกราคม ธนาธรชี้ว่าประเทศอื่นเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วในขณะที่ไทยยังช้าล้าหลังไปหลายเดือน
ธนาธรชี้ว่าประเทศอื่นเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วในขณะที่ไทยยังช้าล้าหลังไปหลายเดือน
รวมถึงจี้ปัญหาว่าการแทงม้าตัวเดียวกับแอสตร้าเซนเนก้านั้นเป็นความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะการต้องพึ่งพาสยามไบโอไซเอนซ์ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ผลิตวัคซีนมาก่อน
รัฐบาลเริ่มระส่ำระส่าย แผนการพึ่งพาวัคซีนวังหลวงถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางและพวกเขารู้ดีว่าไทยต้องรออีกหลายเดือนกว่าจะได้รับมอบแอสตร้าเซนเนก้า ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างต่างก็เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตนเองแล้ว ซึ่งเป็นเพราะการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์หรือการบริจาคจากอินเดีย ประเทศไทยถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยไม่มีข้ออ้างใดที่ฟังขึ้นเลย
ในวันที่ 19 มกราคม คณะทำงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขจัดแถลงข่าวแก้ตัวให้นโยบายที่ผิดพลาด แต่พวกเขาก็ไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ฟังขึ้นว่าเหตุใดจึงเลือกแทงม้าตัวเดียวอย่างแอสต้าเซนเนก้าและไม่เลือกนำเข้าวัคซีนตัวอื่น โดยอ้างว่าที่รัฐบาลตัดสินใจช้าเพราะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัคซีนตัวไหนปลอดภัย แม้ว่าในตอนนั้นวัคซีนหลักหลายตัวได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว
นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติพยายามอ้างนิทานของพวกรอยัลลิสต์เพื่อปกป้องนโยบายที่ผิดพลาด กล่าวว่าสยามไบโอไซเอนซ์ดำเนินนโยบายตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ภูมิพล
ประยุทธ์เริ่มใช้วิธีข่มขู่ฟ้องปิดปากประชาชนที่ตั้งคำถามกับแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล และแน่นอนว่าไม่กี่วันต่อมารัฐบาลยกระดับการข่มขู่ด้วยการฟ้องธนาธรด้วยมาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ เพียงเพราะเขาออกมาตั้งคำถามกับการที่รัฐบาลเลือกพึ่งพาแอสตร้าเซนเนก้ามากเกินไป
ธนาธรตอบโต้ประยุทธ์ว่าใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเกราะบังหน้าและย้ำข้อวิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายการเลือกวัคซีนของรัฐบาล
อนุทินโพสท์เฟซบุ้กเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงธนาธรอ้างว่า “ขอยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ จำนวน 61 ล้านโดส และจากบริษัทไซโนแวคฯ จำนวน 2 ล้านโดส เป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่คนไทย และประเทศไทย”
ในขณะเดียวกัน มาดามแป้งออกแถลงการณ์ในฐานะตัวแทนจากสยามไบโอไซเอนซ์เพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัท โดยประกาศว่า
เพื่อสุขภาวะของประชาชนและเศรษฐกิจของชาติทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค และการต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนการผลิตอย่างฉับพลันเพื่อรวบรวมทรัพยากรและสรรพกำลังทั้งหมดในการผลิตวัคซีนให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้าให้ได้รวดเร็วที่สุด บุคลากรของสยามไบโอไซเอนซ์ทำงานอย่างสุดกำลังเพื่อแข่งขันกับเวลา เพราะสยามไบโอไซเอนซ์มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้แก่คนไทยและมนุษยชาติ
นอกจากนั้น นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเริ่มวิพากษ์วิจารณ์แผนการดันวัคซีนวังหลวงเช่นกัน ในวันที่ 19 มกราคม เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อายุ 21 ปี ยืนประท้วงเดี่ยวหน้าห้างไอคอนสยามซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าหรูทุนสร้าง 1,700 ล้านบาทและเป็นธุรกิจของราชวงศ์ภายใต้ชื่อบริษัทสยามพิวรรธน์ เบนจาถือป้ายประท้วงที่มีข้อความว่า ‘ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้ “เจ้า”’ เธอถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำร้าย ในวันที่ 23 มกราคม มีการยิงไฟเลเซอร์ข้อความประท้วงบนอาคารที่ทำการของสยามไบโอไซเอนซ์ด้วยข้อความวิพากษ์วิจารณ์ และวันที่ 25 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมตัวประท้วงด้านนอกเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของบริษัท
รัฐบาลยังคงพยายามอย่างหนักเพื่อโปรโมตวัคซีนพระราชทานด้วยการปิดปากผู้วิจารณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขอหมายศาลเพื่อสั่งให้ธนาธรลบวิดีโอวิจารณ์เรื่องวัคซีนโดยอ้างว่าทำลายความมั่นคงของชาติ แต่ธนาธรยืนยันไม่ยอมปฏิบัติตาม
นอกจากนั้น รัฐบาลยังพยายามหาความชอบธรรมให้การตัดสินใจผิดพลาดในกรณีที่เป็นประเทศเดียวในอาเซียนและไม่กี่ประเทศในโลกที่ปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แต่ก็เหมือนทุกครั้งที่คำอธิบายไม่จริงใจและไร้เหตุผล ไทยต้องจ่ายค่าวัคซีนเองในราคาแพงและเผชิญกับความเสี่ยงที่มีชีวิตประชาชนเป็นเดิมพัน
ในวันที่ 30 มีนาคม ธนาธรถูกตั้งข้อหากระทำผิดตามมาตรา 112 จากการตั้งคำถามต่อมาตรการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล
V. “ผมเจ็บปวด”
ไทยสามารถควบคุมการระบาดระลอกสองของไวรัสได้ช่วงหนึ่ง แต่ในเดือนเมษายน ประเทศก็ถูกโจมตีโดยการระบาดระลอกสามอย่างโหดร้าย ซึ่งนำไปสู่การเปิดโปงความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐบาล
การระบาดของไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่ามีจุดเริ่มต้นที่ไนท์คลับหรูย่านทองหล่อที่มีสมาชิกวีไอพีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนซึ่งมีส่วนทำให้เชื้อแพร่กระจาย หนึ่งในนั้นคือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยศสูงแทนที่จะสั่งปิดสถานบริการผิดกฎหมายแห่งนี้ กลับละเลยหน้าที่และไปใช้บริการเสียเอง เมื่อล้มเหลวในการใช้มาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดในช่วงวันหยุดสงกรานต์ตอนที่ประชาชนหลายแสนคนเดินทางออกจากกรุงเทพฯเพื่อกลับบ้านต่างจังหวัด ประยุทธ์จึงเป็นผู้รับผิดชอบต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสให้ระบาดไปทั่วประเทศ สำนักข่าวเอพี (Associated Press) รายงานว่า
วิกฤติการการระบาดครั้งล่าสุดเผยให้เห็นจุดอ่อนของมาตรการการจัดการของไทย นั่นคือความล้มเหลวในการจัดหาวัคซีนให้พอเพียงกับการปูพรมฉีดได้ตามเป้าร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ปลายเดือนเมษายน อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ทะยานทะลุ 2,000 ราย แต่คนไทยก็แทบจะยังไม่มีใครได้ฉีดวัคซีนเลย รวมทั้งการเริ่มปูพรมฉีดก็ยังถูกดีเลย์อีกหลายเดือนเนื่องจากสยามไบโอไซเอนซ์ยังไม่พร้อมที่จะส่งมอบวัคซีน ภาพแผนภูมิด้านล่างแสดงข้อมูลจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนภายในวันที่ 1 พฤษภาคมทั่วโลก เห็นได้ว่าประเทศไทยตามหลังประเทศอื่นรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นรัฐล้มเหลวอย่างเมียนมา ลาว และกัมพูชาอย่างไม่เห็นฝุ่น
ในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์วันที่ 16 เมษายน ประยุทธ์ออกมาแก้ตัวที่ตนตัดสินใจไม่ประกาศล็อคดาวน์ในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ โดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่อาจจะเดือดร้อนจากการล็อคดาวน์
การตัดสินใจแบบนี้ผมเจ็บปวดเพราะผมรู้ว่าคนเดือดร้อน หลายคนบอกว่าปิดไปเลย ปิดให้หมด ผมก็นึกถึงคนเหล่านี้ ทำอะไรก็ตามต้องคิดถึงคนเหล่านี้
และหลักฐานที่บ่งบอกว่าประยุทธ์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่นนอกเหนือจากแอสตร้าเซนเนก้าคือการที่ตนเองไม่แม้แต่จะสามารถเรียกชื่อวัคซีนชั้นนำแต่ละตัวได้ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงถูกบีบให้ต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่มหลายล้านโดสซึ่งขัดกับแผนที่วางไว้แต่แรก และภายในเดือนพฤษภาคมรัฐบาลก็เข้าตาจนจนต้องเสนอมาตรการประหยัดวัคซีนโดยให้เจ้าหน้าที่แบ่งใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหนึ่งขวดให้ฉีดเพิ่มได้อีกสองโดสเพื่อสามารถฉีดให้คนได้ 12 คนแทนที่จะเป็น 10 คนต่อวัคซีนหนึ่งขวด ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งทะลุหลักหมื่นเมื่อไวรัสระบาดเข้าไปในเรือนจำ
ความฝันที่จะใช้วัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์เป็นตัวเชิดชูสถาบันกษัตริย์พังลงในพริบตา เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าความล่าช้าในการปูพรมฉีดวัคซีนก่อให้เกิดหายนะซึ่งมีสาเหตุมาจากความล่าช้าในการต้องสร้างทรัพยากรการผลิตใหม่ทั้งหมดสำหรับการผลิตแอสตร้าเซนเนก้า สิ่งแรกที่ราชวงศ์ควรจะทำตอนนี้คือการลดความเสียหายและดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์นี้ให้ไกลที่สุด
และนี่คือตอนที่จุฬาภรก้าวเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซง แม้ว่าจะไม่มีการแจ้งรัฐบาลล่วงหน้า แต่ก็คาดเดาได้ว่าเธอได้รับอนุญาตจากวชิราลงกรณ์ให้ดำเนินการได้ทันที ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด คล้ายเป็นการส่งสัญญาณจากวังว่าไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล สร้างภาพให้ดูเหมือนว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ข้างประชาชน และเบนความสนใจของคนออกจากการโจมตีสยามไบโอไซเอนซ์
แผนการสร้างวัคซีนวังหลวงเดิมพังไม่เป็นท่า แต่จุฬาภรก็เข้ามากอบกู้ชื่อเสียงของวังไว้โดยการเล่นละคอนว่าทำงานหนักเพื่อหาวิธีทำให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุด และทำได้ดีกว่ารัฐบาลไร้น้ำยา
วันที่ 2 มิถุนายน สยามไบโอไซเอนซ์จัดงานแถลงข่าวแบบมีลับลมคมในโดยไม่มีการเชิญนักข่าว บริษัทประกาศการผลิตวัคซีนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่ไม่มีการกล่าวถึงหรือติดภาพกษัตริย์เพราะอาจจะทำให้จุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันให้ติดขึ้นมาใหม่ มีเพียงมือขวาของกษัตริย์ สถิตย์พงษ์ และมาดามแป้งที่เป็นผู้แถลงข่าวในห้องว่างเปล่า
ความไม่โปร่งใสในการจัดการตั้งแต่ต้นของบริษัทนี้สะท้อนอยู่ในภาพที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการตัดต่อ เป็นภาพสถิตย์พงษ์ กับ ทีก ร่วมถือป้ายที่มีข้อความว่า “การส่งมอบวัคซีน COVID-19 Vaccine AstraZeneca ล็อตแรกที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ให้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า”
สยามไบโอไซเอนซ์ประกาศว่าได้ส่งมอบวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1.8 ล้านโดสให้กับรัฐบาลและจะส่งมอบเพิ่มเติมในไม่กี่เดือนข้างหน้าจนครบทั้งหมด 6 ล้านโดสตามที่ได้สัญญาไว้ในเดือนมิถุนายน บริษัทยังลงภาพรถบรรทุกขนส่งวัคซีนที่กำลังขับออกจากโรงงาน ด้านข้างรถติดสโลแกน “Made in Thailand for Thailand and Southeast Asia” ไร้สัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงถึงสถาบันกษัตริย์
ความไม่โปร่งใสอีกอย่างที่ผุดขึ้นคือการที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนได้ล่าช้าไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้ต้องมีการนำเข้าวัคซีนจากประเทศเกาหลีเพื่อให้ครบโควต้าที่ต้องส่งมอบให้ไทยในเดือนมิถุนายน
วันที่ 7 มิถุนายน ในงานแถลงข่าวที่สถานีกลางบางซื่อ ประยุทธ์ประกาศปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวไทย และยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอสำหรับทุกคน
นี่เป็นโมเม้นต์ที่รัฐบาลควรจะได้ประกาศเปิดตัวและยกย่องวัคซีนพระราชทานอย่างยิ่งใหญ่ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลายเดือนก่อนหน้านี้ทำให้ไอเดียนี้ต้องพับไป ประยุทธ์ไม่สามารถแม้แต่จะโปรโมตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยผลิตเองได้อย่างเต็มปากเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังต้องฉีดซิโนแวค ประยุทธ์จึงต้องให้ค่าวัคซีนจีนพอๆกันกับแอสตร้าเซนเนก้าในงานนี้
เพียงสัปดาห์เดียว แผนการปูพรมฉีดวัคซีนก็พังไม่เป็นท่า กลางเดือนมิถุนายนโรงพยาบาลและศูนย์ฉีดวัคซีนต่างจำต้องยกเลิกคิวนัดหมายการฉีดเพราะไม่มีวัคซีนให้ฉีด ปัญหาหลักคือการที่สยามไบโอไซเอนซ์ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตรงเวลา วัคซีนพระราชทานสร้างความขายหน้าและความเดือดร้อนไปทั่วประเทศ
รัฐบาลจึงต้องเร่งสั่งวัคซีนยี่ห้ออื่นอย่าง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรต้องทำก่อนหน้านี้อย่างน้อยหกเดือน การสั่งล่าช้าทำให้ต้องไปต่อคิวประเทศอื่นและกว่าจะถึงคิวก็อาจจะอย่างเร็วที่สุดคือปลายปี 2564
นอกจากนั้น รัฐบาลยังล้มเหลวในการจัดการให้กลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อมากที่สุดได้ฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ในภาวการณ์ขาดแคลนวัคซีน องค์กรรัฐและเอกชนหลายแห่งกลับได้ลัดคิวปาดวัคซีนไปฉีดให้กับพนักงานของตนเอง ในขณะที่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรงถูกทิ้งให้รอแบบไม่มีกำหนด
นอกเหนือจากหายนะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในระลอกสามดูเหมือนจะลดลง ในวันที่ 11 มิถุนายน จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 2,290 เคสซึ่งต่ำที่สุดใน 1 เดือน ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ที่ฟังดูเหลือเชื่อ
ประยุทธ์อ้างว่าประเทศไทยได้เซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนจำนวน 105.5 ล้านโดสในปี 2564 เป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากเดิมที่เคยวางแผนไว้ตอนปลายปี 2563 และอวดอ้างว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนไทยได้มากกว่าเดือนละ 10 ล้านคนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
ในขณะที่ประกาศสิ่งนี้ การพูดสัญญาแบบไร้ความรับผิดชอบของประยุทธ์ก็ทำให้ประเทศกำลังล่มสลาย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยที่มีต้นตอจากอินเดีย ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายมากที่สุดและเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายที่สุด แต่ไทยปราศจากเกราะป้องกันอย่างสิ้นเชิง มีการตรวจพบสายพันธุ์เดลต้าในไทยครั้งแรกในเดือนเมษายนจากแคมป์ก่อสร้างแห่งหนึ่งย่านหลักสี่ในกรุงเทพฯ และต่อมาได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศเป็นระลอกสี่ซึ่งถือเป็นการระบาดหนักที่สุดและนำไปสู่การล่มสลายของระบบต่างๆและเศรษฐกิจไทย
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มจากจีนนั้นมีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ในประเทศไทย พบว่าบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 600 คนยังติดเชื้อแม้ว่าได้ฉีดซิโนแวคไปครบสองเข็ม ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียก็เผชิญวิกฤติที่เกินการควบคุมในลักษณะเดียวกันเพราะพึ่งพาวัคซีนจากจีนเป็นหลัก แม้แต่แอสตร้าเซนเนก้าก็ยังมีประสิทธิภาพไม่มากเมื่อเจอกับการระบาดของเดลต้า มีหลักฐานที่สรุปว่าวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นามีประสิทธิภาพสูงกว่า
สถานการณ์ปัจจุบันเป็นตัวพิสูจน์ว่าประยุทธ์โกหกเรื่องการฉีดวัคซีนให้คนไทยได้เดือนละ 10 ล้านคน รัฐไทยยังคงมั่นใจว่าแอนตร้าเซนเนก้าจะสามารถส่งมอบวัคซีนทั้งหมด 61 ล้านโดสได้ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม มีตัวแทนภาครัฐออกมายอมรับว่าไม่มีการระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนในสัญญา แอสตร้าเซนเนก้าระบุว่าสยามไบโอไซเอนซ์สามารถส่งมอบวัคซีนให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน และยอดสั่งซื้อทั้งหมด 61 ล้านโดสน่าจะได้ครบภายในเดือนพฤษภาคม 2565
การประกาศของแอสตร้าเซนเนก้าสร้างความไม่พอใจให้กับอนุทินที่ต้องการ 10 ล้านโดสต่อเดือนจากแอสตร้าเซนเนก้า เห็นได้จากจดหมายที่ถูกปล่อยออกมา รัฐไทยออกมาตอบโต้เชิงข่มขู่ว่าจะควบคุมจำนวนการส่งออกวัคซีน แต่ก็อาจเป็นเพียงการขู่ลม รัฐไทยจะยอมหักกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามโดยการไม่ส่งวัคซีนตามจำนวนที่สั่งเพื่อสังเวยความผิดพลาดของตัวเองหรือไม่
ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างรัฐไทยกับแอนตร้าเซนเนก้าอันเนื่องมาจากความล้มเหลวของสยามไบโอไซเอนซ์ในการผลิตวัคซีนตามแผนก็เป็นผลลัพท์ที่เกิดจากความพยายามดัน “วัคซีนพระราชทาน” ที่ย้อนกลับมาสร้างความหายนะให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล
ในที่สุด รัฐไทยก็ตอบตกลงเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์หลังจากล่าช้าไปหลายเดือน นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติพยายามออกมาแก้ต่างให้รัฐบาลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ และกล่าวคำขอโทษย้อนหลังสำหรับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล
แต่ก็สายเกินไปแล้ว อัตราการติดเชื้อรายวันในไทยพุ่งทะลุ 15,000 เคสและระบบต่างๆกำลังเผชิญภาวะล่มสลาย
ฝ่ายวังยังคงพยายามอย่างทุลักทุเลเพื่อสร้างข่าวว่ากำลังทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติครั้งนี้
เดือนที่ผ่านมา สำนักพระราชวังเผยแพร่ภาพโฆษณาชวนเชื่อชุดใหม่ เป็นภาพวชิราลงกรณ์และสนมเอก “ก้อย” สินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์กำลังประกอบอาหารอย่างตั้งใจในโรงครัวภายในบริเวณพระราชวังอัมพรสถานเพื่อแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เหมือนทุกครั้ง ทั้งคู่แต่งตัวด้วยชุดคู่ ทั้งเสื้อกางเกง ผ้ากันเปื้อน (ที่มีสกรีนข้อความว่า “so cute”) และหมวกทำครัว โดยปราศจากเงาของพระราชินีสุทิดา
ในภาพมีความแปลกประหลาดหลายอย่าง ทุกรูปวชิราลงกรณ์หลับตา มีการตกแต่งภาพอย่างเห็นได้ชัด เช่น สีผิวของกษัตริย์ที่ขาวสว่างผ่องใสไร้ร่องรอยความชรา และมีภาพหนึ่งที่ดูเหมือนนิ้วเท้าของกษัตริย์หายไป
สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่าทั้งสองประกอบอาหารทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลูกชิ้น ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระเครื่องยาจีน ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟลูกชิ้นเห็ดหอม ข้าวซี่โครงหมูอบกระชายขาวยอดผัก ไข่เจียวหมูสับกระชายซอย คั่วกลิ้งไก่กระชายขาว ลาบเหนือคั่วกระชาย แน่นอนว่า วชิราลงกรณ์จอมขี้เกียจนั้นไม่มีทางทำอาหารเองอย่างแน่นอน ภาพดังกล่าวเป็นการจัดฉาก เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมากที่ภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกมาไม่กี่วันหลังจากที่ประวิตร วงษ์สุวรรณมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่จัดการกวาดล้างข่าวปลอม
ประยุทธ์และรัฐบาลลากตั้งชุดนี้น่าจะอยู่รอดได้อีกไม่นานเพราะความล้มเหลวในการบริหารจัดการการระบาดของไวรัสโควิด แม้ว่าหลายครั้งรัฐบาลชุดนี้จะยอมเลียแข้งเลียขาราชวงศ์ด้วยการโปรโมตโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นโยบายการจัดหาวัคซีนของไทยพังพินาศ วังก็ไม่เคยขอบคุณหรือแสดงความเชื่อมั่นแก่รัฐบาล ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแทรกแซงของจุฬาภร สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์พยายามตีตัวออกห่างความผิดพลาดของรัฐบาล และพลิกวิกฤติที่รัฐบาลเผชิญเพื่อสร้างโอกาสให้ตนเองโดยการปิดสวิตช์อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ และตั้งรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จกว่าเดิมในวังเสียเอง
เจ้าและรัฐบาลยังคงโกหกพกลม ส่วนคนไทยกำลังตายล้มดั่งใบไม้ร่วง